ก่อกำเนิด

“หอการค้า” กำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก เมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 14 ณ เมืองมาแซล ประเทศฝรั่งเศส โดยมีบทบาทในการส่งเสริม ช่วยเหลือ และรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มพ่อค้าที่เป็นสมาชิก คุณูปการของการก่อตั้งหอการค้านี้ ทำให้พ่อค้าเมืองมาแซลสามารถรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นับตั้งแต่นั้น พ่อค้านักธุรกิจแทบทุกประเทศทั่วโลกก็ได้มีการรวมกลุ่มในลักษณะเช่นเดียวกันนี้ เพื่อดำเนินงานด้านส่งเสริมการค้า การเกษตร การอุตสาหกรรมและการเงินให้สอดคล้องกับธุรกิจภายในประเทศของตน และเพื่อรักษาผลประโยชน์ของสมาชิกเป็นสำคัญ

ในขณะเดียวกัน การพาณิชย์ในประเทศไทยยังเป็นไปในรูปแบบต่างคนต่างค้า พ่อค้าจะมีการหารือรวมกลุ่มกันบ้างก็เฉพาะผู้ค้าสินค้าประเภทเดียวกัน  ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงและกรมที่ราชการตั้งขึ้นเพื่อบำรุงส่งเสริมและเผยแพร่การพาณิชย์เท่านั้น จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2475 แนวความคิดเรื่อง “หอการค้า” ในประเทศไทยจึงกำเนิดขึ้น โดยพ่อค้าหัวก้าวหน้าและมีการศึกษาดีกลุ่มหนึ่ง ภายใต้การนำของ นายเล็ก โกเมศ ซึ่งพิจารณาเห็นว่า ในเมื่อต่างประเทศแทบทุกแห่งล้วนมีหอการค้าประจำประเทศนั้นๆ ซึ่งสามารถอำนวยประโยชน์ให้กับพ่อค้า  ประชาชน รวมไปถึงประเทศชาติได้อย่างมหาศาล ประเทศไทยเองก็มีพ่อค้านักธุรกิจชาวไทยอยู่จำนวนไม่น้อย ถ้าหากรวมตัวกันได้เป็นปึกแผ่น ย่อมส่งผลดีทั้งในแง่ของการดำเนินอาชีพได้สะดวกลุล่วง และเกิดพลังที่จะต่อรองประสานงานกับรัฐบาลได้ราบรื่นขึ้น

อันความคิดริเริ่มนั้น หากไม่มีผู้ลงมือกระทำย่อมไม่เกิดผล เช่นเดียวกับจุดเริ่มต้นของหอการค้าไทย นายเจือ เพ็ญภาคกุล หนึ่งในผู้ริเริ่มก่อตั้งหอการค้าไทย ได้กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ไว้ในหนังสือ เล็ก โกเมศ อนุสรณ์ (พิมพ์ในงานฌาปนกิจศพนายเล็ก โกเมศ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2505) ว่าสมควรยกย่องนายเล็ก โกเมศ เป็นอย่างยิ่ง เพราะแรกเริ่มที่มีการรวมกลุ่มปรารภกันเรื่องหอการค้าที่สโมสรสามัคคีจีนสยาม ตรอกกัปตันบุช นั้น มีบรรดาพ่อค้าปรับทุกข์เรื่องถูกบีบคั้นจากอิทธิพลและอำนาจต่างชาติมากมาย แต่นายเล็ก โกเมศ เป็นผู้เดียวที่เอาจริงเอาจังในการจัดตั้งหอการค้าไทย โดยให้คำรับรองว่าจะอุปถัมภ์ให้เกิด  Chamber of Commerce ของไทย และยินดีให้ใช้บ้านของตนเป็นสถานที่ประชุมปรึกษาหารือ

ต่อมา ในวันที่ 16 ธันวาคม 2475 ปรากฏหลักฐานว่ามีการประชุมเรื่องการจัดตั้งหอการค้าไทยที่บ้านของนายเล็ก โกเมศ ตำบลตรอกกัปตันบุช โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม 6 ท่าน คือ

  • พระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร)
  • นายเล็ก โกเมศ
  • นายเจือ เพ็ญภาคกุล
  • นายทองดี อิศระกุล
  • นายย่งฮั้ว แซ่ฮุน
  • นายเอ้ง ภาคสุวรรณ

ในการประชุมครั้งนั้น นอกจากจะตกลงกันเรื่องจะจัดตั้งหอการค้าไทยแล้ว ยังได้กำหนดชื่อหอการค้าเป็นภาษาอังกฤษว่า Siamese Chamber of Commerce

ยืนหยัด

เกร็ดน่าสนใจอีกประการหนึ่งที่นายเจือ เพ็ญภาคกุล ได้กล่าวถึงในหนังสือ เล็ก โกเมศ อนุสรณ์ ก็คือสภาวะผันผวนของการเมืองไทยที่ส่งผลต่อหอการค้า ท่านได้เขียนไว้ว่า “...สมัยนั้นรัฐบาลไทยมัวยุ่งแต่เรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สมาคมหอการค้าไทยจึงต้องประสบกับการล้มลุกคลุกคลานมาเป็นเวลาอันยาวนาน”

นอกเหนือจากสภาพทางการเมืองแล้ว หอการค้าไทยยังก่อตั้งขึ้นด้วยกำลังและทุนทรัพย์ของคณะกรรมการและผู้เป็นสมาชิกเพียงอย่างเดียว ไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากหน่วยงานใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อประกอบกับองค์กรหอการค้าเป็นของใหม่ พ่อค้าประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่มีความเข้าใจถึงความสำคัญและบทบาทหน้าที่ของหอการค้ามากนัก คำว่า “ล้มลุกคลุกคลาน” ของนายเจือ เพ็ญภาคกุลนั้น จึงถือว่าไม่ได้เกินจริงเลยแม้แต่น้อย

ในระยะแรก ขณะที่หอการค้ายังทำการอยู่ ณ อาคารในตรอกกัปตันบุช ถนนสี่พระยา หอการค้าไทยได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์และก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านต่างๆ แก่สมาชิกเป็นอันมาก เช่น เป็นแหล่งชุมนุมแลกเปลี่ยนความเห็นซึ่งกันและกัน  ปลูกฝังความสามัคคีและเกื้อหนุนกันตามโอกาส นอกจากนี้ยังเชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาแสดงปาฐกถาเป็นครั้งคราวเพื่อเพิ่มพูนความรู้และแนวคิดใหม่ๆ ให้แก่สมาชิกด้วย  ครั้นดำเนินการต่อเนื่องมาอีกหลายปี ความเจริญเฟื่องฟูในยุคแรกก็เริ่มซบเซาลง ด้วยสมาชิกมีธุระการงานติดพันไม่อาจมาสมาคมได้บ่อยครั้งเหมือนเคย กรรมการหอการค้าไทยชุดต่อมาจึงลงมติย้ายที่ทำการหอการค้าไปอยู่ ณ อาคารเช่าของพระคลังข้างที่ ถนนพระราม 1 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2480  

ปรับตัว

หอการค้าไทยอาศัยอยู่ที่ตึกสยามโฮเต็ลได้ไม่นาน ก็ย้ายไปอยู่ที่อาคารบนถนนมหาไชย ใกล้วังบูรพา จากนั้นได้ย้ายไปอยู่ที่ตึกไอ.อี.ซี ตำบลสี่แยกเอส.เอ.บี  นายวิรัช พึ่งสุนทร หนึ่งในคณะกรรมการและผู้เรียบเรียงประวัติหอการค้าไทยเป็นฉบับแรก (พ.ศ. 2492) ได้บรรยายถึงสภาพการทำงานของหอการค้าไทยในขณะนั้นว่า มีห้องทำงานเพียง 2 ห้องเล็กๆ ซึ่งยากที่จะขยับขยายให้เกิดประโยชน์ใดๆ ได้ เรียกว่าหอการค้าไทยระยะนี้อยู่ในระหว่างประคับประคองตัว

คณะกรรมการหอการค้าไทยไม่อาจดูดายกับภาวะซบเซานี้ได้ เป็นธรรมดาที่การบริหารกิจการให้เจริญรุ่งเรืองย่อมต้องมีการปรับตัวให้ทันกับภาวะปัจจุบันอยู่เสมอ ผู้ที่จะทำหน้าที่นายกและกรรมการหอการค้าไทยจึงต้องเลือกเฟ้นผู้ที่มี คุณสมบัติ ครบถ้วนมาดำเนินการส่งเสริมให้หอการค้าไทยก้าวหน้ายิ่งขึ้น

ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2483 นายจุลินทร์ ล่ำซำ ได้รับเลือกให้เป็นนายกหอการค้าไทย ต่อมาได้ย้ายที่ทำการไปอยู่ ณ อาคารพาณิชย์ภัณฑ์ ถนนศรีอยุธยา สนามเสือป่า (ตรงข้ามวัดเบญจมบพิตร) เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2483 คณะกรรมการชุดนี้จัดการภารกิจต่างๆ อย่างเข้มแข็ง แม้ว่ายังคงดำเนินการตามวัตถุประสงค์ดั้งเดิม แต่ก็ยังขยายผลงานเห็นชัดเป็นรูปธรรมเพิ่มขึ้น เช่น หอการค้าไทยได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ออกร้านสินค้าไทยในงานฉลองรัฐธรรมนูญประจำปี เชิญชวนให้พ่อค้าไทยที่ผลิตสินค้าไทยมาออกร้าน ทำให้พ่อค้าไทยหลายสิบรายได้รับเหรียญและถ้วยรางวัลจากหอการค้าไทยร่วมกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อเป็นเกียรติแก่สินค้านั้นๆ  การดำเนินงานนี้นับเป็นหน้าที่โดยตรงของหอการค้าที่จะต้องสนับสนุนพ่อค้าไทย

เปลี่ยนแปลง

หากมองภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศไทย จะเห็นว่าการค้าเสมือนเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั้งประเทศ  เพราะไม่ว่าจะอยู่แห่งหนตำบลใด ทุกคนล้วนจำเป็นต้องซื้อหาสินค้าอุปโภคบริโภคไม่มากก็น้อย แต่ในช่วงก่อนปี 2500 ธุรกิจการค้าที่สำคัญมักกระจุกตัวแต่ในเพียงเมืองใหญ่เท่านั้น ความรู้และการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการค้าเพื่อให้กิจการรุดหน้านั้น ยังไม่ครอบคลุมทั่วถึงทั้งประเทศ ในปี 2503 นายบรรเจิด ชลวิจารณ์ ประธานหอการค้าไทย และนายเชื้อ ชนานพ หนึ่งในคณะกรรมการหอการค้าไทยในขณะนั้น ได้มีแนวคิดริเริ่มจัดตั้ง “หอการค้าจังหวัด” โดยนำร่องที่จังหวัดชลบุรีก่อนเป็นแห่งแรก

หอการค้าจังหวัดถือเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการพัฒนาหอการค้าไทยและเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวหน้าแบบองค์รวม เพราะสมาชิกในหอการค้าจังหวัดมาจากผู้ประกอบวิสาหกิจทุกหมู่บ้าน ตำบล อำเภอในเขตจังหวัดนั้น ซึ่งสามารถรวบรวมและให้ข้อมูลที่แท้จริงเกี่ยวกับสภาวะการค้าและการลงทุนในระดับภูมิภาค รวมถึงได้มีโอกาสช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาเมื่อสมาชิกพบอุปสรรคในการดำเนินงาน หอการค้าจังหวัดทำให้ธุรกิจการค้าภายในชุมชนเข้มแข็ง ซึ่งย่อมส่งผลดีต่อเศรษฐกิจระดับมหภาคด้วย 

โลดแล่น
8 ทศวรรษหอการค้าไทย

รุดหน้า “เคียงข้าง” ทุกภาคส่วน

หลังจากมีการตราพระราชบัญญัติหอการค้าไทย พ.ศ. 2509 ในช่วงระยะ 40 ปีที่ผ่านมานี้ หอการค้าไทยได้เข้าไปมีบทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม รักษาสิทธิ์ทางการค้าของคนไทยและทำให้ผู้ประกอบธุรกิจได้รับประโยชน์จากกิจการของตนโดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบเหมือนในอดีต เช่น มีการเสนอให้รัฐบาลสงวนอาชีพให้คนไทย ออกกฎหมายควบคุมอาชีพคนต่างด้าว ดำเนินการขออนุญาตจัดตั้งวิทยาลัยการพาณิชย์เป็นวิทยาลัยเอกชน เพื่อให้ผู้สำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาบัตร มีการตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐบาลและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ส่งเสริมให้จัดตั้งและพัฒนาหอการค้าจังหวัด จัดตั้งศูนย์ข้อมูลทางธุรกิจเพื่อบริการสมาชิก ออกวารสารและนิตยสารให้ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจ ริเริ่มจัดตั้ง “อาเซียน-ซีซีไอ” (ASEAN Chamber of Commerce and Industry) เพื่อประสานความร่วมมือทางด้านการค้าในกลุ่มประเทศอาเซียน ดำเนินโครงการพัฒนาธุรกิจภูมิภาค นอกจากนี้ยังร่วมมือกับรัฐบาลในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ และสร้างความสัมพันธ์ทางการค้า เศรษฐกิจ และการเมือง ตลอดมา 

ผู้ขับเคลื่อนนาวา
 
ประธานกรรมการหอการค้าไทยคนที่ 1 :
พระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร) 
/ พ.ศ. 2476 - 2482

พระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร) เป็นบุคคลที่มีความคิดก้าวหน้า มีความรู้และมีความสามารถในการใช้ภาษาต่างประเทศเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังเป็นบุคคลที่บรรดาพ่อค้าให้ความเคารพนับถือ เปรียบดั่งเสาหลักขององค์กรที่เพิ่งถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย

ในปี 2475 หลังจากประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตย กระบวนทัศน์ด้านเศรษฐกิจไทยก็เริ่มแตกหน่อและเติบโตขึ้น ในช่วงเวลานั้นพ่อค้าไทยกลุ่มหนึ่งเห็นว่าการส่งเสริมให้คนไทยเห็นความสำคัญของการทำการค้า จะสามารถนำพาประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้าได้ ในที่สุดจึงได้ตกลงกันจัดตั้งหอการค้าขึ้นตามแบบอย่างที่เห็นจากต่างประเทศ ใช้ชื่อเรียกในเบื้องต้นว่า “Siamese Chamber of Commerce” แต่ยังไม่มีข้อยุติเกี่ยวกับชื่อภาษาไทย

ต่อมาพระยาภิรมย์ภักดีซึ่งเป็นประธานที่ประชุมชั่วคราวจึงได้เข้าเฝ้าขอประทานชื่อภาษาไทยจากพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ และหม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ ได้ชื่อประทานว่า “สภาคารการค้า” จากนั้นที่ประชุมจึงได้มอบให้พระยาภิรมย์ภักดีพร้อมคณะไปจดทะเบียนก่อตั้งสมาคม เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม 2476 แต่รัฐบาลได้สงวนคำว่า “สภา” ไว้เฉพาะองค์กรของรัฐ ดังนั้นคณะผู้ก่อตั้งจึงใช้ชื่อว่า “หอการค้า” แทน

การถือกำเนิดขึ้นของหอการค้าไทยในวันนั้น คณะพ่อค้านักธุรกิจต่างพร้อมใจกันเชิญ พระยาภิรมย์ภักดีให้ดำรงตำแหน่งประธานหอการค้าไทยคนแรก เนื่องจากบทบาทของท่านได้รับการยอมรับในวงการธุรกิจ และยังทำงานช่วยเหลือสังคมมาอย่างต่อเนื่อง พระยาภิรมย์ภักดีมีแนวทางดำเนินงานของหอการค้าไทยในสมัยแรกให้เป็นองค์กร ที่ส่งเสริมให้คนไทยเห็นความ สำคัญของการทำการค้า ซึ่งได้นำพาประเทศไปสู่ความเจริญมั่นคงในเวลาต่อมา
 

ประธานกรรมการหอการค้าไทยคนที่ 2 :
ขุนเลิศดำริห์การ (ร้อยตำรวจโทแช ลิมปะสุวัณณ)
/ พ.ศ. 2482

ขุนเลิศดำริห์การ (ร้อยตำรวจโทแช ลิมปะสุวัณณ) ผู้มีแนวคิดในการจัดพิมพ์ระเบียบปฏิบัติของกรมตำรวจ เพื่อจำหน่ายให้แก่ข้าราชการตำรวจเป็นครั้งแรก และถือเป็นเหตุที่สำคัญประการหนึ่งที่จุดประกายแนวคิดให้ท่านเลือกที่จะเดินบนเส้นทางสายธุรกิจจนมีบทบาทสำคัญในการร่วมจัดตั้งหอการค้าไทย

นอกจากขุนเลิศดำริห์การจะเป็นเจ้าของห้างจาตุรงคอาภรณ์ ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่และทันสมัยมากในเวลานั้นท่านยังได้ดำรงตำแหน่งเลขานุการหอการค้า ซึ่งถือเป็นงานหนักอย่างมากในยุคของการก่อตั้งองค์กร แต่ถึงกระนั้น หอการค้าก็ได้รับการยอมรับจากบรรดาพ่อค้านักธุรกิจ มีการจัดกิจกรรมพบปะสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน และเชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาแสดงปาฐกถาอย่างสม่ำเสมอ อีกด้วย

ระยะแรกหอการค้าไทยประสบปัญหาต้องย้ายสถานที่ทำการหลายครั้ง ประมาณปลายปี 2480 หอการค้าไทยต้องย้ายจากตรอกกัปตันบุช ไปอยู่ ณ อาคารเช่าของพระคลัง ซึ่งอาคารดังกล่าวมีสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก จึงต้องซ่อมแซมด้วยเงินค่าบำรุงและค่าสมาชิกจนเกือบหมดสิ้น ในที่สุดขุนเลิศดำริห์การจึงได้ให้ใช้อาคารชั้นบนของห้างจาตุรงคอาภรณ์เป็นสถานที่ทำการ แต่อยู่ที่นั่นได้ไม่นานก็มีเหตุให้ต้องย้ายไปที่ห้างศิรินคร จากนั้นทางราชการได้มาขอเช่าอาคารดังกล่าว หอการค้าไทยจึงได้ย้ายมาอยู่ที่ตึกชั้นล่างของสยามโฮเต็ล โดยความช่วยเหลือของท่านอีกเช่นเคยจึงถือว่าท่านเป็นผู้โอบอุ้มหอการค้าไทยอย่างแท้จริง

ในปี 2482 สมาชิกหอการค้าไทยจึงพร้อมใจกันเชิญขุนเลิศดำริห์การดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 2 หลังจากที่ท่านได้ทุ่มเทสรรพกำลังทุกวิถีทาง เพื่อค้ำจุนและรักษาองค์กรแห่งนี้ไว้ให้คงอยู่เป็นสมบัติของชาติจวบจนปัจจุบัน
 

ประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 3 :
นายจุลินทร์ ล่ำซำ 
/ พ.ศ. 2483 - 2486 / พ.ศ. 2489 - 2490 / พ.ศ. 2492 - 2495

นายจุลินทร์ ล่ำซำ นักธุรกจผู้มีความสามารถจากตระกูลผู้บุกเบิกธุรกิจด้านประกันภัยและการธนาคารของไทย และยังมีความเสียสละในการทำงานเพื่อส่วนรวม จึงได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานหอการค้าไทย คนที่ 3 ท่านได้บริหารงานของหอการค้าอย่างเข้มแข็งตลอดระยะเวลายาวนานถึง 9 ปี

ช่วงระยะเวลานั้น หอการค้าไทยประสบปัญหาหลายประการ ทั้งขาดแคลนเงินทุนและไม่มีสถานที่ทำการถาวร นายจุลินทร์จึงช่วยกอบกู้สถานการณ์ด้วยการประสานไปยังกระทรวงพาณิชย์จัดงานแสดงสินค้าในงานฉลองรัฐธรรมนูญ และมอบรางวัลให้แก่ห้างร้านที่ผลิตสินค้ามีคุณภาพ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ผู้ผลิตสินค้า และสนองนโยบายของรัฐ จากนั้นจึงนำรายได้ส่วนหนึ่งไปสร้างตึกพาณิชย์ภัณฑ์ บริเวณสนามเสือป่า เป็นที่ทำการถาวรของหอการค้าไทย หอการค้าไทยจึงมีชื่อเสียง และฐานะทางการเงิน ดีขึ้นตามลำดับ นอกจากการเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรแล้ว นายจุลินทร์ยังได้ริเริ่มให้จัดตั้ง “วิทยาลัยการค้า” ด้วยเห็นว่าคนในสมัยนั้นนิยมให้บุตรหลานรับราชการ ทำให้ขาดบุคลากรที่มีประสิทธิภาพด้านการค้า หากมีโรงเรียนที่สร้างบุคลากรด้านการค้าโดยเฉพาะก็น่าจะเป็นผลดีต่อภาคธุรกิจของประเทศ แต่วิทยาลัยการค้าที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นก็ต้องยุติการสอน เนื่องจากเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา รัฐบาลจึงได้นำอาคารเรียนไปใช้เพื่อเป็นที่ประสานงานระหว่างรัฐบาลไทยกับญี่ปุ่น

ด้วยเหตุดังกล่าวหอการค้าไทยจึงต้องย้ายสถานที่ทำการอีกครั้ง คณะกรรมการหอการค้าจึงขอซื้อที่ดินบริเวณถนนราชบพิธจากนายจุลินทร์ ด้วยเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เจ้าตัวจึงตกลงขายที่ดินให้หอการค้าในราคาถูก สถานที่ดังกล่าวจึงเป็นสถานที่ทำการของหอการค้าไทยมาจนถึงปัจจุบัน

ในปี 2486 กระทรวงพาณิชย์ได้ขอชื่อของหอการค้าไทยจากคณะกรรมการฯ เพื่อไปดำเนินงานในลักษณะกึ่งราชการ แต่ภายหลังกระทรวงพาณิชย์มิได้ดำเนินการใดๆ คณะกรรมการฯ จึงได้เจรจาขอชื่อหอการค้าไทยกลับคืนมา และได้จดทะเบียนใหม่ชื่อว่า “หอการค้ากรุงเทพ” โดยนายจุลินทร์ก็ได้กลับมาทำประโยชน์ให้แก่องค์กรอีกครั้งในตำแหน่งประธานหอการค้ากรุงเทพ
 

ประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 4 :
นายสัญญา ยมะสมิต 
/ พ.ศ. 2491

นายสัญญา ยมะสมิต ผันตัวเองจากการเป็นนักเรียนนายเรือมาสู่โลกธุรกิจ ซึ่งประสบความสำเร็จในหลากหลายวงการ อาทิ ธุรกิจตัวแทนขายรถยนต์จากยุโรป ธุรกิจธนาคาร ธุรกิจโรงแรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้บุกเบิกธุรกิจประกันชีวิต และดำรงตำแหน่งนายกสมาคมประกันชีวิตไทยคนแรกยาวนานถึง 8 สมัย ด้วยเหตุนี้นายสัญญาจึงได้รับความไว้วางใจจากนักธุรกิจให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 5 ในปี 2491 หลังจากอยู่เบื้องหลังความสำเร็จขององค์กรนี้มายาวนาน

ในช่วงที่ภาวะบ้านเมืองเกิดวิกฤตจากผลของสงครามโลกครั้งที่สองกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้หอการค้าไทยดำเนินการจัดสรรข้าวสารรวมถึงสินค้าที่ขาดแคลนอื่นๆ ให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึงผลจากการดำเนินการดังกล่าว ทำให้หอการค้าไทยมีรายได้จนสามารถซื้อที่ดินและก่อสร้างสำนักงานหอการค้าไทยได้ในเวลาต่อมา
 

ประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 5 :
นายเล็ก โกเมศ
พ.ศ. 2493

นายเล็ก โกเมศ ได้รับการศึกษาภาษาไทยจากโรงเรียนวัดสุวรรณาราม ธนบุรี เป็นเวลา 4 ปี จากนั้นจึงไปศึกษาภาษาอังกฤษจากครูฝรั่งที่โรงเรียนวัดมหาพฤฒาราม อีก 4 ปี เมื่อศึกษาจบแล้ว จึงมาทำงานที่ห้างสั่งสินค้าของฝรั่งชื่อชิตเต็นเด็นอีกหลายปี ก่อนจะเลื่อนเป็นผู้ช่วยผู้จัดการและคอมปราโดร์ (นายหน้าที่ทำธุรกิจกับคนต่างชาติ) ระหว่างนั้นสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้อุบัติขึ้น ห้างที่นายเล็กทำงานอยู่เป็นของชาวเยอรมันจึงถูกสั่งเลิกกิจการ นายเล็กจึงตั้งห้างขายยาและน้ำหอมชื่อห้างโกเมศ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในสมัยนั้น ต่อมาบริษัทฝรั่งได้ว่าจ้างให้นายเล็กไปค้าขายแทนบริษัทในต่างประเทศ จึงเป็นโอกาสดีเนื่องจากเจ้าตัวประสงค์จะไปศึกษางานการค้าที่ต่างประเทศอยู่แล้ว ทำให้มีประสบการณ์ด้านการติดต่อการค้ากับประเทศต่างๆ ด้วยเหตุดังกล่าว นายเล็กจึงเป็นบุคคลที่พ่อค้าทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติรู้จักกันทั่วไป

จากการเดินทางไปติดต่อค้าขายหลายประเทศ นายห้างเล็กจึงมีความคิดริเริ่มที่จะก่อตั้งหอการค้าขึ้น ด้วยตระหนักว่าคนไทยในขณะนั้นเริ่มสนใจประกอบการค้ามากขึ้น จึงควรมีหอการค้าเช่นเดียวกับชาติอื่น เพื่ออำนวยประโยชน์ด้านความสามัคคี ด้านการประสานงานระหว่างรัฐกับพ่อค้า ตลอดจนได้ช่วยเหลือพ่อค้าด้วยกัน ด้วยเหตุนี้จึงมีการนัดหมายประชุมพ่อค้าเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2475 ณ บ้านนายเล็ก โกเมศ ตรอกกัปตันบุช

อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานของหอการค้าไทยในระยะแรกยังขาดปัจจัยหลายอย่าง ทั้งเงินทุน สถานที่ เจ้าหน้าที่ และขาดความร่วมมือจากทางราชการ ตลอดจนขาดความร่วมใจจากพ่อค้าด้วยกันเอง แต่ก็ยัง มีพ่อค้ากลุ่มหนึ่งรวมทั้งนายเล็ก ช่วยกันบริจาคเงินเป็นทุนเริ่มแรก นายเล็ก โกเมศจึงถือเป็นหนึ่งในผู้โอบอุ้มหอการค้าตั้งแต่แรกเริ่มตลอดจนช่วงที่ได้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 5
 

ประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 6 :
นายสง่า วรรณดิษฐ์ 
/ พ.ศ. 2494

นายสง่า วรรณดิษฐ์ นักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จในวงการก่อสร้าง ซึ่งได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารที่สำคัญหลายแห่ง เช่น โรงแรมรัตนโกสินทร์ อาคารวชิราวุธวิทยาลัย รวมถึงสร้างถนนหลานหลวง เป็นถนนคอนกรีตสายแรกของประเทศไทย เป็นต้น ท่านจึงได้นำความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ต่างๆ มาทำงานให้เกิดประโยชน์แก่หอการค้าไทย

จากการที่หอการค้าไทยได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลให้ทำหน้าที่จัดสรรปันส่วนข้าวสารและสินค้าหลายอย่างให้แก่ประชาชนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้หอการค้าไทยเริ่มมีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับมากขึ้น กระทรวงพาณิชย์จึงได้ขอชื่อหอการค้าไทยจากคณะกรรมการฯ ไปอุปการะ คณะกรรมการฯ เห็นว่าน่าจะเป็นผลดี จึงได้แต่งตั้งผู้แทนเจรจากับกระทรวงพาณิชย์เพื่อมอบชื่อหอการค้าไทยให้ โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องรับอุปการะวิทยาลัยการค้าด้วย ดังนั้น ในปี 2486 คณะกรรมการฯ จึงได้จัดตั้งองค์กรในรูปแบบสมาคมแทน ชื่อว่า “สมาคมพ่อค้าไทย” มีนายสง่า วรรณดิษฐ์ ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมพ่อค้าไทยคนแรก หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์รับหอการค้าไทยไปอุปการะแล้วเป็นเวลา 3 ปี ก็ยังมิได้ดำเนินการใดๆ คณะกรรมการฯจึงได้แต่งตั้งผู้แทนเพื่อเจรจาขอชื่อคืน และฟื้นฟูบทบาทความสำคัญขององค์กรพร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “หอการค้ากรุงเทพฯ” และนายสง่าก็คือหนึ่งในกำลังสำคัญขณะนั้น

จนกระทั่งในปี 2494 นายสง่าจึงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้าไทยคนที่ 6 หลังจากที่ได้ปฏิบัติงานที่เป็นประโยชน์แก่หอการค้าไทยมาโดยตลอด
 

ประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 7 :
พันเอกช่วง เชวงศักดิ์สงคราม
/ พ.ศ. 2496 - 2499

พันเอกช่วง เชวงศักดิ์สงคราม สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เมื่อ พ.ศ. 2464 แล้วเริ่มปฏิบัติราชการในกองทัพบกจนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงเชวงศักดิ์สงครามเมื่อต้นปี 2475 และมีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่ราชการตามลำดับ ในระหว่างที่มีการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาลหลายสมัย อาทิ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นต้น เมื่อท่านพ้นจากตำแหน่งราชการก็ได้มาประกอบอาชีพทางพาณิชยกรรม ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทห้างร้าน และธนาคารหลายแห่ง นับว่าได้รับความเชื่อถือไว้วางใจในแวดวงธุรกิจ

อนึ่ง ในปี 2497 คณะรัฐบาลได้มีมติให้จัดตั้ง “สภาการค้า” ขึ้นเป็นองค์กรกลางของพ่อค้านานาชาติในการประสานความร่วมมือกับรัฐบาลเพื่อส่งเสริมและจัดระเบียบการค้าให้มีระเบียบแบบแผน รวมทั้งกำหนดมาตรฐานสินค้า ตลอดจนส่งเสริมด้านการส่งออก ต่อมาจึงมีการจดทะเบียนก่อตั้งสมาคม เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2498 ซึ่งมี พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ หลังจากนั้นจึงมีการประชุมใหญ่และเลือกตั้งกรรมการบริหารชุดที่ 2 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2498 พันเอกช่วงซึ่งเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถและได้รับการยอมรับจากพ่อค้านักธุรกิจ จึงได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการสภาการค้าตั้งแต่ ปี 2499 - 2501
 

ประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 8 :
นายอาทร สังขะวัฒนะ 
/ พ.ศ. 2500 - 2501

นายอาทร สังขะวัฒนะ สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนทวีธาภิเษกวัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) จากนั้นจึงได้มาทำงานที่ร้านค้าอาวุธปืนย่านวัดเกาะ มีผลงานดีจนได้เป็นหุ้นส่วนของร้าน และแยกออกมาเปิดกิจการเอง ต่อมาจึงขยายกิจการเป็นห้างอาทรพานิช จนกิจการเติบใหญ่เป็นบริษัท อาทรพานิช จำกัด และเป็นบริษัท เงินทุนหลักทรัพย์อาทรทรัสต์ จำกัด ในที่สุด

จากความรู้ความสามารถประกอบกับประสบการณ์อันยาวนานในแวดวงธุรกิจ บรรดาพ่อค้าจึงยอมรับนับถือนายอาทรและไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมพ่อค้าไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อปี 2492 และในปี 2512 รวมถึงให้ดำรงตำแหน่งประธานหอการค้าไทยคนที่ 8 ระหว่างปี 2501 - 2502 อีกด้วย

เมื่อมีการจัดสร้างอาคารของหอการค้าไทย นายอาทรได้สละทรัพย์ส่วนตัวร่วมสร้างอาคารของหอการค้าไทยด้วย เมื่อสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้าไทยแล้ว ท่านจึงได้รับเชิญให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของหอการค้าไทยในเวลาต่อมา
 

ประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 9 :
นายบรรเจิด ชลวิจารณ์
/ พ.ศ. 2502 - 2507

นายบรรเจิด ชลวิจารณ์ นักธุรกิจผู้ผันชีวิตจากการเป็นอาจารย์ใหญ่และผู้ก่อตั้งโรงเรียนเซเว่นเดย์ แอดเวนติส มาเป็นผู้บริหารมือทองที่สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยให้ยืนหยัดแข่งขันกับต่างชาติได้อย่างสง่างาม นอกจากนี้ ท่านยังเป็นผู้นำสูงสุดในองค์กรหลักด้านเศรษฐกิจทั้ง 4 แห่งของประเทศไทย ได้แก่ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสภาองค์กรนายจ้างแห่งประเทศไทย

นายบรรเจิดได้เข้ามาร่วมงานกับหอการค้าไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2501 ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 9 และประธานสภาการค้าหรือสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระหว่างปี 2502 - 2508 

ในปี 2505 ท่านได้ริเริ่มจัดงานแสดงสินค้าขึ้นครั้งแรก และจัดขึ้นอีกครั้งที่ 2 ในปี 2507 เนื่องจากเห็นว่าคนไทยในสมัยนั้น ยังไม่นิยมบริโภคสินค้าที่ผลิตขึ้นภายในประเทศ ทั้งที่คุณภาพก็มิได้ด้อยกว่าสินค้าจากต่างประเทศ ส่งผลให้ไทยเสียดุลการค้าอย่างมหาศาล การจัดงานในครั้งนั้น มีการให้ผู้ผลิตนำเครื่องจักรมาผลิตสินค้าแสดงให้ประชาชนเห็น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคว่าคนไทย มีฝีมือและผลิตสินค้าได้อย่างมีคุณภาพ ส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจทั้งระบบ มิใช่เพียงการขายสินค้าลดราคาที่ได้ผลเพียงระยะสั้นเท่านั้น ทั้งนี้ การแสดงสินค้าทั้ง 2 ครั้งดังกล่าว หอการค้าไทยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินมา ทรงเป็นประธาน ในพิธี สร้างความปลาบปลื้มใจแก่ชาวหอการค้าไทยอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ นายบรรเจิดยังได้วางรากฐานที่สำคัญให้แก่สภาการค้า ด้วยการระดมทุนจากสมาชิกพร้อมทั้งบริจาคทรัพย์ส่วนตัว จัดสร้างอาคารสูง 4 ชั้น เพื่อเป็นสถานที่ทำการถาวร และได้ใช้ชั้น 3 และชั้น 4 เป็นสถานที่ทำการเรียนการสอนของวิทยาลัยการค้า ตั้งแต่ พ.ศ. 2506 เป็นต้นมา
 

ประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 10 :
นายสุริยน ไรวา
/ พ.ศ. 2508 - 2511

นายสุริยน ไรวา นักธุรกิจลำดับแรกๆ ของไทย ที่บุกเบิกวงการธุรกิจสมัยใหม่ แทบทุกแขนง จากประสบการณ์การทำงานในหลากหลายอาชีพ เช่น ตำรวจ นักการเมือง นายธนาคาร ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ ผู้บริหารกิจการประกันภัย เป็นต้น ทำให้นายสุริยนมีวิสัยทัศน์กว้างไกล และได้นำประสบการณ์จากการทำงานมาทำประโยชน์ให้หอการค้าไทย

เมื่อปี 2507 นายสุริยนดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 3 ในสมัยที่นายบรรเจิด ชลวิจารณ์ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ จากนั้นนายสุริยนจึงก้าวสู่ตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 10 และดำรงตำแหน่งติดต่อกัน 2 สมัย ระหว่างปี 2508 - 2511 นอกจากนี้ นายสุริยนยังดำรงตำแหน่งประธานสภาการค้าคนที่ 5 อีกด้วย และเมื่อบทบาทหน้าที่ของหอการค้าไทยมีความสำคัญเพิ่มขึ้นจนได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วนของสังคม รัฐบาลจึงได้ตราพระราชบัญญัติหอการค้า พ.ศ.2509 ขึ้น และได้เปลี่ยนชื่อ “สภาการค้า” เป็น “สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย” ดังนั้นนายสุริยนจึงถือเป็นประธานคนแรกที่ได้ใช้ตำแหน่งประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

นอกจากนี้ เมื่อคณะกรรมการหอการค้าไทยได้ฟื้นฟูวิทยาลัยการค้าขึ้นอีกครั้งในปี 2506 หลังจากต้องปิดการเรียนการสอนเพราะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อนายสุริยนดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้าไทย จึงได้วางรูปแบบการบริหารในลักษณะมหาวิทยาลัย รวมทั้งจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอน 4 ปี และนำมาตรฐานการสอนระดับปริญญาตรี ในสาขาพาณิชยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยชั้นนำในอเมริกามาปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาพและความต้องการของประเทศไทย ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยในปัจจุบัน
 

ประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 11 :
นายจรูญ สีบุญเรือง
/ พ.ศ. 2512 - 2515

นายจรูญ สีบุญเรือง ได้เข้ามาร่วมงานกับหอการค้าไทย ตั้งแต่ปี 2494 เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของบิดา คือนายเค็งเหลียน สีบุญเรือง กรรมการของหอการค้าไทยชุดแรก สมัยที่พระยาภิรมย์ภักดีเป็นประธาน จากนั้นนายจรูญได้ก้าวสู่ตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 11 และประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย คนที่ 6 ระหว่างปี 2512 – 2515 ติดต่อกัน 2 วาระ

ในระยะนั้นนายจรูญได้รับมอบหมายจากกระทรวงพาณิชย์ ให้เป็นหัวหน้าคณะเจรจาทำสัญญาระยะยาว เพื่อขายข้าวโพดให้แก่ญี่ปุ่นและไต้หวันติดต่อกันถึง 4 ปี ทำให้เกษตรกรไทยมีความเชื่อมั่น ในการผลิตสินค้า ซึ่งมูลค่าการค้าในแต่ละปีนั้น สูงถึง 2,500 – 3,000 ล้านบาท และจากผลงานอันโดดเด่นดังกล่าว ท่านจึงได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลให้ทำงานในคณะกรรมการชุดต่างๆ อาทิ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ สภานิติบัญญัติ กรรมการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ปรึกษาคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เป็นต้น และยังได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ในเวลาต่อมา
 

ประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 12 :
นายอบ วสุรัตน์
พ.ศ. 2516 - 2521

อบ วสุรัตน์ สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก และไปศึกษาต่อที่วิทยาลัยวายัน ประเทศฮ่องกง เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วได้เดินทางกลับมาประกอบอาชีพค้าขายด้วยความรู้ความสามารถและวิริยะอุตสาหะ จึงสามารถร่วมก่อตั้งบริษัทวิทยาคม บริษัทเก่าแก่แห่งหนึ่งของประเทศ ซึ่งเป็นบริษัทผู้แทนจำหน่ายเครื่องพิมพ์ดีดเรมิงตันในสมัยนั้น

นายอบได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในปี 2522 และได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในปี 2526 นอกจากนี้ยังเคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกวุฒิสภาอีกด้วย

ในปี 2516 - 2521 ท่านได้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 12 รวมทั้งประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทยในปี 2516 - 2522 อีกด้วย จากประสบการณ์การทำงานทั้งภาคเอกชนและภาครัฐบาล นายอบจึงเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญหลายด้าน ซึ่งท่านได้นำมาใช้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่หอการค้าไทยอย่างมาก
 

ประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 13 :
นายกิจจา วัฒนสินธุ์
/ พ.ศ. 2522

กิจจา วัฒนสินธุ์ เคยรับราชการตำรวจประจำอยู่กองตำรวจภูธร จังหวัดฉะเชิงเทรา ระหว่างนั้นได้ศึกษาวิชากฎหมายที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม (ต่อมาสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีนิติศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสอบได้เป็น เนติบัณฑิตไทย เมื่อปี 2476 จากนั้นจึงศึกษาระดับปริญญาโทจนสำเร็จการศึกษารัฐศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง

นายกิจจาเข้ารับราชการในกระทรวงมหาดไทย ตำแหน่งสุดท้ายคือหัวหน้าแผนกในกรมราชทัณฑ์ จากนั้นจึงได้ลาออกจากราชการ และลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา

นายกิจจาได้รับเป็นที่ปรึกษากฎหมายของหอการค้าไทย ตั้งแต่ปี 2495 และเข้าเป็นสมาชิกของหอการค้าไทยเมื่อปี 2498 กรรมการหอการค้าไทยเมื่อปี 2501 หลังจากทำงานในตำแหน่งประธานกรรมการหลายคณะในหอการค้าไทย และสร้างประโยชน์ให้หอการค้าไทยตลอดมา ในปี 2522 นายกิจจาจึงได้ดำรงตำแหน่งประธานหอการค้าไทยคนที่ 13 ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและนายกสภาวิทยาลัยการค้า
 

ประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 14 :
นายแพทย์สมภพ สุสังกร์กาญจน์
/ พ.ศ. 2522 - 2529

นายแพทย์สมภพ สุสังกร์กาญจน์ คุณหมอหนุ่มอนาคตไกลได้ผันตัวเองจากการเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าเข้าสู่โลกธุรกิจตั้งแต่ปี 2489 และได้เข้ามาทำงานให้หอการค้าไทยตั้งแต่ปี 2501 เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของบิดา คือ นายประทุม สุสังกร์กาญจน์ 

ในปี 2502 นายแพทย์สมภพได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการหอการค้าไทย สมัยที่นายบรรเจิด ชลวิจารณ์ เป็นประธานกรรมการฯ จนกระทั่งในปี 2522 นายแพทย์สมภพได้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 14 และดำรงตำแหน่งต่อเนื่องยาวนานถึง 8 ปีซึ่งนับเป็นช่วงเวลายาวนานอีกหน้าในประวัติศาสตร์ของหอการค้าไทย

ในสมัยที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาเศรษฐกิจซึ่งถือเป็นความสำเร็จ ที่เป็นรูปธรรมในการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน จากนั้นได้มีการขยายแนวคิด ในการจัดตั้ง กรอ.จังหวัดทั่วประเทศ จึงเป็นภารกิจที่สำคัญของหอการค้าไทยในการรณรงค์เผยแพร่ และสนับสนุนให้นักธุรกิจทั่วประเทศเห็นความสำคัญและรวมตัวกันจัดตั้ง “หอการค้าจังหวัด” ขึ้น

นายแพทย์สมภพได้ระดมสรรพกำลังออกไปเผยแพร่แนวคิดในการจัดตั้งหอการค้าจังหวัด ในที่สุดความพยายามอย่างยิ่งยวดก็ประสบผลสำเร็จ ในปี 2529 หอการค้าจังหวัดจึงถือกำเนิดขึ้นครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ และเป็นกำลังสำคัญของภาคเอกชนในท้องถิ่นจวบจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ท่านยังได้พยายามให้มีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนของวิทยาลัยหอการค้าไทยอยู่เสมอ และเพิ่มหลักสูตรปริญญาตรีเป็น 5 คณะ 20 สาขาวิชา ต่อมาทบวงมหาวิทยาลัย ได้ยกฐานะวิทยาลัยหอการค้าไทยเป็น “มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย” ในปี 2527
 

ประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 15 :
นายยุกต์ ณ ถลาง 
/ พ.ศ. 2530 - 2534

ยุกต์ ณ ถลาง สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และปริญญาโทบริหารธุรกิจ ด้านบัญชีและการเงิน พร้อมประกาศนียบัตรวิชาชีพบัญชีจากประเทศฟิลิปปินส์ จากนั้นจึงกลับมารับราชการ ที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน การรถไฟแห่งประเทศไทย และร่วมก่อตั้งคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากนี้ยังเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตในลำดับที่ 1ซึ่งสำนักสอบบัญชีของท่านได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาค

นายยุกต์มีบทบาทในการดำเนินงานหอการค้าไทยเป็นระยะเวลายาวนาน ตั้งแต่ดำรงตำแหน่งกรรมการและเหรัญญิกหอการค้าไทย ในปี 2522 รองประธานกรรมการหอการค้าไทยในปี และดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศในปี 2530

จากบทบาทของนักบัญชีมืออาชีพสู่บทบาทของนักบริหาร นายยุกต์ได้นำประสบการณ์ ทั้งในภาคราชการ ภาครัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน ตลอดจนความเป็นนักวิชาการมาทำงานประสานความร่วมมือกับองค์กรและหน่วยงานต่างๆ ในการส่งเสริมการลงทุน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
 

ประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 16 :
นายสุวิทย์ หวั่งหลี 
/ พ.ศ. 2534 - 2537

นายสุวิทย์ หวั่งหลี นักธุรกิจและนักการธนาคารผู้ประสบความสำเร็จ ได้เข้ามาร่วมงานกับหอการค้าไทย ตั้งแต่ปี 2510 ในตำแหน่งกรรมการและเลขาธิการ ทั้งยังริเริ่มและสานต่องานต่างๆ ขององค์กรอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในปี 2536 ท่านจึงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ คนที่ 16 ของหอการค้าไทย ควบคู่ไปกับตำแหน่งประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

หลังจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 ส่งผลกระทบทางลบด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว นายสุวิทย์ได้ออกแถลงการณ์ร่วมในนามภาคเอกชน 3 สถาบัน คือ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรม และสมาคมธนาคารไทย (กกร.) เรียกร้องให้ ทุกฝ่ายยุติการกระทำที่อาจนำไปสู่ความไม่สงบ

นอกจากนี้ ยังได้มีนโยบายจัดทำข้อเสนอแนะต่อภาครัฐบาล เพื่อเร่งรัดแก้ไขอุปสรรคปัญหาในการดำเนินธุรกิจ อาทิ การปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานของภาคราชการ การปรับปรุงกฎหมายธุรกิจที่ล้าสมัย การเร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจการสนับสนุนและส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงิน การค้า และการลงทุนของภูมิภาค เป็นต้น

ด้านการศึกษา นายสุวิทย์ได้อนุมัติให้มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเปิดการเรียนการสอน ในคณะนิติศาสตร์ โดยเน้นไปในด้านกฎหมายธุรกิจ เพื่อสร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ รองรับ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังมีการริเริ่มให้มีการนำคณะกรรมการหอการค้าไทยจากส่วนกลางไปประชุมสัญจรร่วมกับหอการค้าจังหวัดต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน ก่อให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจในส่วนภูมิภาคมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ นายสุวิทย์ได้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินเล็กตกระหว่างเดินทางไปประชุม ซึ่งเป็นภารกิจสุดท้ายที่ท่านได้ทำให้กับหอการค้าไทย
 

ประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 17 :
นายโพธิพงษ์ ล่ำซำ
/ พ.ศ. 2537 - 2539

โพธิพงษ์ ล่ำซำ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ จาก Temple University สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการในหลายบริษัท อาทิ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด และบริษัท ภัทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นต้น

นายโพธิพงษ์ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 17 ระหว่างปี 2537 - 2539 ช่วงเวลาดังกล่าว ท่านได้สร้างคุณประโยชน์นานัปการ อาทิ การประสานความร่วมมือระหว่างหอการค้าไทยกับหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ การให้ความสำคัญกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งถือเป็นผู้ประกอบการส่วนใหญ่ของประเทศ มีการจัดตั้งคณะกรรมการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมขึ้นมาดูแลปัญหาของกลุ่มธุรกิจดังกล่าวโดยเฉพาะ รวมทั้งจัดตั้งคณะกรรมการการค้าชายแดน เพื่อพัฒนาการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน อันมีลักษณะเฉพาะ และมีมูลค่าการค้านับแสนล้านบาทต่อปี เป็นต้น

ด้วยความรู้ความสามารถระดับผู้บริหารมืออาชีพ นายโพธิพงษ์จึงนำประสบการณ์ดังกล่าวมาทำงานเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศในด้านต่างๆ เช่น การเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ เป็นที่ปรึกษากรรมาธิการการพาณิชย์ ที่ปรึกษากรรมาธิการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร และได้รับ พระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 เนื่องจากท่านสามารถประสานงานกับหอการค้าได้ทั่วประเทศ เป็นต้น
 

ประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 18 :
นายวิเชียร เตชะไพบูลย์
/ พ.ศ. 2540 - 2543

นายวิเชียร เตชะไพบูลย์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาการเงินการธนาคาร จากมหาวิทยาลัยบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการในธุรกิจหลากหลายประเภท อาทิ บริษัท ภัทรสาธิต จำกัด บริษัท ศรีราชานคร จำกัด รวมทั้งยังดำรงตำแหน่งอื่นๆ ในองค์กรธุรกิจชั้นนำ

นายวิเชียรดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 18 ระหว่างปี 2540 - 2543 ท่านได้นำความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์มาพัฒนางานทางด้านเศรษฐกิจ เช่น การจัดตั้งสถาบันยุทธศาสตร์ทางการค้า เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลความรู้สำหรับภาคธุรกิจได้ใช้เป็นแนวทางปรับตัวรับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ผันผวนอย่างรุนแรงในช่วงนั้น รวมทั้งยังได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดตั้งศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจขึ้น เพื่อดูทิศทางและแนวโน้มของเศรษฐกิจอีกด้วย นอกจากนั้น ท่านยังให้ความสำคัญในการอำนวยความสะดวกแก่สมาชิกและนักธุรกิจ จึงได้ขยายบริการการรับรองเอกสารเพื่อการส่งออกไปยังกรมศุลกากรท่าเรือคลองเตย และท่าอากาศยานดอนเมือง เป็นต้น

นอกจากนี้ มีการจัดตั้ง “ศูนย์สารสนเทศ หอการค้าไทย” ขึ้น ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญ ในการขับเคลื่อนองค์กรด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่
 

ประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 19 :
ดร. อาชว์ เตาลานนท์
/ พ.ศ. 2544 - 2547

ดร.อาชว์ เตาลานนท์ สำเร็จการศึกษาวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิศวกรรมอุตสาหการและระบบงาน จาก Illinois Institute of Technology ประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และ รองประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ดร.อาชว์ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้าไทย 2 สมัยติดต่อกัน ระหว่างปี 2544 - 2547 ระหว่างนั้นท่านได้จัดตั้งสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการไทย เพื่อเป็นหน่วยงานที่ช่วยจัดอบรมสัมมนาเพิ่มพูนความรู้ด้านเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ เพื่อสนับสนุนภูมิปัญญาท้องถิ่น และช่วยเป็นสื่อกลางในการติดต่อหาตลาดอีกด้วย

ทั้งนี้ ท่านยังกำหนดวิสัยทัศน์และพันธกิจขององค์กร เพื่อความชัดเจนในการบริหารงานของหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งยังได้เชื่อมโยงหอการค้าทั่วประเทศเข้าด้วยกันผ่านเว็บไซต์ www.thaiechamber.com ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารต่างๆ ระหว่างกัน

นอกจากนี้แล้ว ท่านยังมีส่วนสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคมอีกด้วย เช่น การได้รับพระบรมราชานุญาตให้ผลิตและจำหน่าย “เสื้อทองแดง” เพื่อปลุกกระแสความนิยมในตราสินค้าของคนไทย และในช่วงที่ประเทศชาติกำลังประสบปัญหาในพื้นที่ภาคใต้ ดร.อาชว์ ได้เป็นแกนนำในการดำเนินโครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้” เพื่อระดมเงินทุนช่วยเหลือผู้ประสบความเดือดร้อนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และอีกส่วนหนึ่งนำไปสร้างเป็นบ้านพักถาวรให้แก่ผู้ประสบภัยสึนามิ
 

ประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 20 :
นายประมนต์ สุธีวงศ์
/ พ.ศ. 2548 - 2551

นายประมนต์ สุธีวงศ์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และระดับปริญญาโท ด้านวิศวกรรมเครื่องกล จาก University of Kansas ประเทศสหรัฐอเมริกา เคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วย ผู้จัดการใหญ่ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด 

นายประมนต์ได้เข้ามาร่วมงานกับหอการค้าไทยตั้งแต่ปี 2526 ในตำแหน่งกรรมการหอการค้าไทย จากนั้นจึงดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2533 - 2536 และรองประธานกรรมการคนที่ 1 ของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2541 - 2543

ด้วยความสามารถของนักบริหารมืออาชีพผนวกกับประสบการณ์การทำงานให้หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาหลายสิบปี นายประมนต์จึงได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้าไทยและประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 2 สมัยติดต่อกัน ระหว่างปี 2548 - 2551

ในระยะเวลานั้นประเทศไทยมีความไม่สงบทางการเมือง เผชิญปัญหาด้านพลังงาน รวมถึงปัญหาความผันผวนจากเศรษฐกิจโลก แต่นายประมนต์ก็ได้ผสานความร่วมมือร่วมใจในการทำงานกับคณะกรรมการหอการค้าไทยร่วมกับภาคเอกชนและภาครัฐบาลสานต่องานต่างๆ จากคณะกรรมการรุ่นก่อน และดำเนินงานเพิ่มเติมเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กรและภาคเศรษฐกิจส่วนรวม เช่น ส่งเสริมการค้าชายแดน ส่งเสริมการลงทุนด้านลอจิสติกส์ เป็นต้น

นอกจากนี้ท่านยังมุ่งเน้นการเยี่ยมเยียนหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน และจัดทำคู่มือการดำเนินงานของหอการค้าจังหวัดเพื่อให้มีมาตรฐานและมีความเป็นเอกภาพมาจนถึงปัจจุบัน
 

ประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 21 :
นายดุสิต นนทะนาคร 
/ พ.ศ. 2552 - 2554

นายดุสิต นนทะนาคร สำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธาจาก Youngstown State University และวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโครงสร้าง จาก Ohio State University เคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ค้าวัสดุซิเมนต์ไทย จำกัด ที่ปรึกษากรรมการ และกรรมการบริหาร ธนาคารออมสิน เป็นต้น ปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการบริหาร บมจ.ธนาคารกรุงไทย

จากประสบการณ์การทำงานทั้งในหน่วยงานภาครัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน ทำให้ นายดุสิตมีความเชี่ยวชาญและถือเป็นผู้บริหารมืออาชีพที่มีความสามารถอีกคนหนึ่งของประเทศ นายดุสิตเคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในปี 2548 - 2550 และดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการหอการค้าไทย ในปี 2550 - 2552 ก่อนจะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้าไทยและประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยในปี 2552 จนถึงปี 2554

นอกจากจะเป็นผู้สืบสานเจตนารมณ์จากประธานกรรมการรุ่นก่อน ท่านยังมี ความคิดริเริ่มและให้ความสำคัญในการดำเนินงานต่างๆ เช่น โครงการ 1 ไร่ 1 แสน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเกษตรกร การรณรงค์การปราบปรามคอร์รัปชัน เป็นต้น
 

ประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 22 :
นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล 
/ พ.ศ. 2554 - 2555

นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล จบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์บัณฑิตและวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศจาก Manchester University ประเทศอังกฤษ ด้วยความเป็นผู้เชียวชาญด้านธุรกิจอุตสาหกรรมสิ่งทอ ท่านเคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาการจัดทำแผนแม่บทอุตสาหกรรมของประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรม ประธานกรรมการ ASEAN Federation of Textile Industries (AFTEX) ประธานกรรมการสหพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอไทย ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK

นอกจากนายพงษ์ศักดิ์จะเป็นผู้มีความรู้ความสามารถและมีประสบการณ์ในด้านธุรกิจอย่างกว้างขวางแล้ว ยังเป็นผู้ที่ได้รับความเชื่อถือในแวดวงธุรกิจ เมื่อเข้ามาทำงานให้กับทางหอการค้า จึงสามารถสร้างคุณูปการให้แก่หอการค้าได้ในหลากหลายด้าน เช่น เป็นคณะทำงานด้านทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประธานกรรมการคณะกรรมการตรวจสอบ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กรรมการคณะกรรมการร่วม 3 สถาบัน (กกร.) เป็นต้น

ด้วยผลงานเป็นที่ประจักษ์ประกอบกับความเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ นายพงษศักดิ์ อัสสกุลจึงเข้ามาเป็นประธานกรรมการหอการค้าไทยคนที่ 22 ต่อจากนายดุสิต นนทะนาคร ซึ่งถึงแก่กรรมลง และได้ดำเนินการสานต่องานสำคัญอย่างต่อเนื่อง เช่น เป็นที่ปรึกษาคณะทำงานพิจารณาแนวทางการกำหนดมาตรการป้องกันการทุจริตภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ภาครัฐและเอกชน ในการป้องกันการทุจริตของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) เป็นต้น นอกจากนี้ยังดำเนินการสานต่อด้านต่างๆ เพื่อเตรียมพร้อมก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC)
 

ประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 23 :
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ 
/ พ.ศ. 2556 - 2559

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการกลุ่มมิตรผล ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 23 จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาบริหารการจัดการ จากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา โดยปณิธานที่อยู่ในใจมาตลอดของการทำธุรกิจ คือความพยายามในการลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร เข้าใจความต้องการและช่วยหาทางออกที่ดีขึ้นเสมอ การเป็นคนที่ไม่เคยหยุดคิดและไม่หยุดต่อยอด ผลงานขณะดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้าไทยจึงเกิดขึ้นมากมาย อาทิ

  • ยุคแห่งการปฏิรูป โดยเป็นแกนนำ 7 องค์กรภาคเอกชน สร้างเวทีกลางผ่าทางตันให้กับประเทศในช่วงวิกฤติทางการเมือง จนเกิดเป็นการเจรจากับคู่ขัดแย้งในทุกภาคส่วน
  • การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยพยายามยกระดับความสามารถของธุรกิจขนาดเล็ก รวมไปถึงกลุ่มเกษตรกรให้เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ สิ่งที่เป็นหัวใจของการเพิ่มขีดความสามารถก็คือ การกระตุ้นให้เกิดการสร้างนวัตกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจตลอดทั้ง Value Chain รองรับการเข้าสู่ประเทศไทย 4.0
  • สานพลังประชารัฐ คุณอิสระได้รับการยอมรับให้เป็นหัวหน้าภาคเอกชนในคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ เพื่อขับเคลื่อนประเทศร่วมกับภาครัฐและภาคประชาสังคม อาทิ โครงการเกษตรแปลงใหญ่ ผลักดันการลดขั้นตอนในการดำเนินธุรกิจ หรือ Ease of Doing Business การสร้าง New S-Curve เป็นต้น
  • กำเนิด YEC คุณอิสระมีแนวคิดที่จะสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เพราะคนกลุ่มนี้มีพลัง และเข้าใจในเทคโนโลยีสมัยใหม่ หากนำมาผนวกกับประสบการณ์ของคนรุ่นก่อน จะสามารถสร้างบุคลากรทางธุรกิจที่แข็งแกร่งได้ใน อนาคต กระทั่งในปัจจุบัน มีนักธุรกิจรุ่นใหม่ของหอการค้าแล้วกว่า 5,000 รายจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ
     
ประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 24 :
นายกลินท์ สารสิน
/ พ.ศ. 2560 - 2563

คุณกลินท์  สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 24 (พ.ศ.2560-2563) ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานกรรมการในปี 2560 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจทั่วโลก กำลังเผชิญกับกระแส Disruption มากมาย นโยบายยกระดับเศรษฐกิจ “Trade & Services 4.0” จึงเกิดขึ้น เพื่อยกระดับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ให้ปรับตัวเข้าสู่สภาพการค้าใหม่ ที่เน้นการสร้างนวัตกรรมเป็นหลัก พร้อมเดินหน้าโครงการ Big Brother เพื่อเป็นศูนย์บ่มเพาะให้ SMEs ได้เติบโตอย่างเข้มแข็ง รวมทั้งการร่วมวางแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีกับภาครัฐ เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ยิ่งไปกว่านั้น คุณกลินท์ยังริเริ่มแนวคิด “ไทยเท่” ที่นำวัฒนธรรมท้องถิ่น ผสานความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม สร้างให้เกิดเป็นมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ พร้อมเป็นแบบอย่างของคนที่ภาคภูมิใจในความเป็นไทย

  • ปี 2561 ทิศทางการขับเคลื่อนของหอการค้าไทย มีความชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ ด้วยการกำหนดแผนงานเป็น Radar Chart เชื่อมโยงกันทั้งเครือข่าย มุ่งเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในท้องถิ่น โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบริการ เนื่องจากเป็นจุดแข็งและมีสัดส่วนในการสร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นจำนวนมาก ดังนั้น โครงการ 1 หอการค้า 1 ท่องเที่ยวชุมชน จึงเกิดขึ้น สร้างการตื่นตัว และสร้างเม็ดเงินให้กับคนในท้องถิ่นเป็นอย่างมาก นอกจากนั้น คุณกลินท์ยังท้าทายการทำงาน ด้วยโครงการ 1 ไร่ 1 ล้าน ซึ่งทำให้หลายคน “มืดแปดด้าน” และสงสัยในความเป็นไปได้ แต่สุดท้าย ผลสำเร็จอันเกิดจากวิสัยทัศน์ที่เฉียบคมนี้ ก็เกิดขึ้นจริง ส่วนในด้านการติดตามภาวะเศรษฐกิจ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ริเริ่มจัดทำดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 4 ดัชนี (ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก ดัชนีภาคบริการ ดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างประเทศ) เพื่อเป็นข้อมูลอ้างอิงในการดำเนินธุรกิจต่อไป
  • 2562 ปีที่ทุกคนชะลอการจับจ่ายใช้สอย คุณกลินท์ได้ริเริ่มโครงการ “ไทยช่วยไทยคือไทยเท่” เพื่อให้ทุกภาคส่วนร่วมกันกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยกันใช้จ่าย ช่วยกันขับเคลื่อน เพื่อให้เศรษฐกิจไทยยังคงเดินต่อไปได้ รวมทั้งได้รุกคืบด้านการท่องเที่ยวอย่างเต็มกำลัง ด้วยการพัฒนา Application TAGTHAi แพลตฟอร์มการท่องเที่ยวแห่งชาติ ที่ตอบโจทย์การท่องเที่ยวไทยแบบครบวงจรด้วยตัวคุณเอง ตอบรับนักท่องเที่ยวยุคดิจิทัล เชื่อมต่อธุรกิจท่องเที่ยวทุกมิติ เหนือสิ่งอื่นใด คือการดูแลสมาชิกให้มีความเข้มแข็งจึงได้มีการพัฒนา Mobile Application ภายใต้ชื่อ TCC Connect สื่อกลางทางธุรกิจสำหรับสมาชิกหอการค้าทั่วประเทศและเครือข่าย เชื่อมโยงส่วนลดและสิทธิประโยชน์ทางธุรกิจมากมาย ที่คัดสรรสำหรับ “คนการค้า” โดยเฉพาะ
  • ปี 2563 วิกฤติโควิด กระตุกให้เศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก คุณกลินท์คือหนึ่งในแนวร่วมสำคัญที่ช่วยระดมสมอง ชี้แนะแนวทางการปรับตัว วางแผนเปิดเมือง...เป็นขั้นเป็นตอน พร้อมเปิดรับบริจาค จัดสร้างและส่งมอบห้องคัดกรอง สนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ พร้อมขยายผลไทยเท่ ด้วยการสร้าง “Happy Model” รองรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังโควิด สร้างช่องทางช่วยเหลือเกษตรกร ระบายผลผลิต...ท่ามกลางปัญหากำลังซื้อ เสริมองค์ความรู้ผู้ประกอบการผ่าน TCC Online Training และอีกมากมาย จนกระทั่งปัญหาการระบาดระลอกแรกคลี่คลาย

          นี่คือเศษเสี้ยวของการทำงานหนักตลอด 4 ปี ที่ไม่เคยมีข้อจำกัดในเรื่องเวลา หรือสถานที่ ไม่มีค่าจ้าง...ไม่มีผลประโยชน์อื่นใด มีเพียงความตั้งใจดี ที่มีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม และมันคือตัวตนของผู้ชายคนนี้
          “กลินท์  สารสิน”

 
พระยาภิรมย์ภักดี ประธานคนแรกของหอการค้าไทย

"หอการค้าไทย" ถือกำเนิดขึ้นจากพ่อค้าไทยกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีแนวความคิดที่จะจัดตั้งหอการค้าขึ้นเช่นเดียวกับใน ต่างประเทศเพื่อเป็นองค์กรกลางในการอำนวยประโยชน์ให้แก่พ้อค้าและนักธุรกิจไทย โดยทำหน้าที่ประสานงานระหว่างภาครัฐบาลและภาคเอกชนอีกทั้งร่วมมือกันส่งเสริมการค้าและปกป้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศให้เจริญรุ่งเรืองทักเทียมกับนานาอารยประเทศ จนกระทั้งเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2476 จึงได้มีการจดทะเบียนก่อตั้ง "หอการค้าไทย" ขึ้น โดยมีสำนักงานแห่งแรกตั้งอยู่ ณ ตึกในตรอกกัปตันบุช ถนนสี่พระยา มีพระยาภิรมย์ภักดี เป็นประธานคนแรกของหอการค้าไทย

สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

เคียงคู่ พัฒนา เพื่อความก้าวหน้าของประเทศ

การพาณิชย์ที่รุ่งเรืองเฟื่องฟูขึ้นตามยุคสมัย เป็นเหตุให้มีบริษัทห้างร้าน สมาคมการค้าสาขาต่างๆ และผู้ประกอบธุรกิจการค้าชาวต่างชาติในประเทศไทยเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกัน ยิ่งมีผู้ทำการค้ามากเท่าไหร่ เส้นทางสายพาณิชย์ก็ยิ่งมีความยากลำบากมากขึ้นเท่านั้น อีกทั้งยังปรวนแปรตามสภาพสังคมและการเมืองอยู่เสมอ เป็นเหตุให้ในปี 2497 รัฐบาลเริ่มตระหนักถึงความสำคัญในการจัดระเบียบการค้า เพื่อให้เศรษฐกิจเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศชาติได้โดยไม่ชะงักถอย เพราะข้อจำกัดอันเกิดจากการแข่งขันหรือการกีดกันทางการค้า ซึ่งหากมีการจัดระเบียบให้มีแบบแผนถูกต้องแล้ว ย่อมเปรียบเสมือนการแผ้วถางเส้นทางการค้าให้ราบรื่นและเศรษฐกิจสามารถรุดหน้าได้เต็มที่

แนวความคิดดังกล่าว ปรากฏผลเป็นรูปเป็นร่างในวันที่ 29 กันยายน 2497 เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการจัดตั้ง "สภาการค้า" ขึ้น เพื่อให้เป็นสถาบันกลางของนักธุรกิจทุกชาติทุกภาษาที่ประกอบธุรกิจในการนำสินค้าเข้า ส่งสินค้าออก ผู้ประกอบการผลิต การอุตสาหกรรม การธนาคาร การประกันภัย การขนส่ง และการค้าอื่น ๆ นอกจากนี้ สภาการค้ายังทำหน้าที่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาล ในการดำเนินการส่งเสริมและจัดระเบียบการค้า ตลอดจนให้ข้อคิดเห็น คำปรึกษา ข้อเท็จจริง และคำแนะนำแก่รัฐบาลในเรื่องที่เกี่ยวกับการค้า ประสานงานระหว่างผู้ประกอบการค้ากับทางราชการ ประสานและส่งเสริมความสามัคคี และระงับข้อพิพาทระหว่างผู้ประกอบการค้าด้วยกัน หลังจากนั้น คณะกรรมการฯ ได้จัดทำระเบียบข้อบังคับของสภาการค้า และได้จดทะเบียนเป็นสมาคมภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2498

นั่นคือจุดเริ่มต้นของ “สภาการค้า” ที่มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็น “สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย” ในปัจจุบัน ตลอดเส้นทางกว่า 50 ปีที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยยืนหยัดทำบทบาทหน้าที่เคียงคู่หอการค้าไทยมาโดยตลอดนั้น มีเหตุการณ์และภาวะอุปสรรคทั้งจากภายนอกและภายในเกิดขึ้นมากมาย แต่ละยุคสมัยต้องก้าวย่างอย่างระมัดระวัง เสมือนการคัดท้ายนาวาพาณิชย์ ให้มุ่งหน้าตรงตามพันธกิจที่วางเป้าหมายเอาไว้

กำเนิดมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ภารกิจความภูมิใจของหอการค้าไทย

หากกล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของหอการค้าไทย นอกเหนือจากการส่งเสริมธุรกิจการค้าแล้ว การสนับสนุนให้คนไทยมีความรู้ในทางการค้านับเป็นพันธกิจที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าข้ออื่น ในระยะแรกที่หอการค้าก่อตั้งขึ้นนั้น การให้ความรู้มักจำกัดอยู่ในแวดวงพ่อค้าที่เป็นสมาชิก ด้วยการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาแสดงปาฐกถาเป็นครั้งคราว หรือแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างพ่อค้าด้วยกันตามโอกาส ขณะเดียวกัน คณะกรรมการหอการค้าไทยแต่ละสมัยก็พยายามอยู่เสมอที่จะขยายวงความรู้ไปสู่ประชาชนและเยาวชนที่สนใจการค้า แต่ยังไม่เกิดผลเป็นรูปธรรมนัก

จนกระทั่งในปี 2483 ช่วงเวลานั้นรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้คนไทยหันมาประกอบอาชีพค้าขายมากขึ้นเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ หอการค้าไทย ซึ่งอยู่ในระยะที่เริ่มยืนได้อย่างมั่นคงแล้ว อีกทั้งมีสมาชิกที่มีความรู้ดีและชำนาญทางด้านการค้าอยู่หลายท่าน จึงเห็นสมควรที่จะยังประโยชน์แก่ บ้านเมืองอย่างมั่นคงถาวร ด้วยการก่อตั้งสถาบันการศึกษาสำหรับผลิตบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการพาณิชย์โดยเฉพาะ ดังนั้น “วิทยาลัยการค้าของหอการค้าไทย” จึงกำเนิดเป็นรูปเป็นร่างในปี 2483 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยในปัจจุบัน