![790x442.jpg](https://webdata.thaichamber.org/public/upload/images/news/790x442.jpg)
งานแถลงข่าวผลงานโครงการสานพลังประชารัฐด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวและ MICE
วันที่เผยแพร่ 27 มี.ค. 2561
สานพลังประชารัฐท่องเที่ยว เปิดแผนการปฏิรูป เน้นกระจายรายได้ เพิ่มขีดความสามารถ สู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และหัวหน้าทีมภาครัฐ : คณะทำงานสานพลังประชารัฐด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวและ MICE (คณะทำงาน D3) เปิดเผยถึง แนวทางความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการสนับสนุนการปฏิรูปและการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีความเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน หากมีการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพจะทำให้การท่องเที่ยวขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนโยบายของรัฐบาลมุ่งเน้นให้ประชาชนทุกกลุ่มได้รับประโยชน์จากการขยายตัวจากการท่องเที่ยว เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
สำหรับแนวทางการดำเนินงานของคณะทำงานสานพลังประชารัฐด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวและ MICE (D3) มีบทบาทในการสนับสนุนการปฏิรูปการท่องเที่ยวอย่างทั่วถึงในทุกพื้นที่ โดยให้ความสำคัญในเรื่องการซ่อมแซมบำรุงรักษา ฟื้นฟูวางระบบต่าง ๆ และเน้นในเรื่องความสะดวก ความสะอาด ความปลอดภัย และมีเอกลักษณ์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้แหล่งท่องเที่ยวของไทยสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน รวมถึงผนึกกำลังเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองรอง เพื่อช่วยกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำอย่างทั่วถึง
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานโครงการ Amazing Thai Taste ชี้แจงรายละเอียดโครงการสำคัญ 4 โครงการ ประกอบด้วย
- โครงการ Amazing Thai Taste
- Downtown VAT Refund for Tourists
- Digital Tourism Platform
- การยกเลิกการใช้ ตม.6 สำหรับชาวต่างชาติ
โครงการ Amazing Thai Taste เป็นความร่วมมือของพันธมิตรกว่า 50 องค์กร ในการร่วมกันส่งเสริมการรับประทานอาหารไทย ผลไม้ ข้าว และของฝากจากอาหาร ในกลุ่มนักท่องเที่ยว ซึ่งมีการใช้จ่ายเฉพาะในเรื่องอาหารสูงกว่า 5 แสนล้านบาทต่อปี ผ่านกิจกรรมต่างๆเพื่อให้รายได้จากอาหารเหล่านี้กระจายถึงเศรษฐกิจรากฐานในภูมิภาคให้มากที่สุด ตั้งแต่เกษตรกร ชุมชน ไปจนถึง Street Food ซึ่งผลจากการดำเนินงานที่ผ่านมา มีส่วนทำให้รายได้จากอาหารในกลุ่มนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น จากประมาณ 4.5 แสนล้านบาทในปี 2558 กลายเป็น 5.9 แสนล้านบาทในปี 2560 และทำให้สัดส่วนรายได้จากอาหารต่อรายได้ท่องเที่ยวรวม เพิ่มจากร้อยละ 18 กลายเป็นร้อยละ 21.2 อีกด้วย โครงการสำคัญที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ Amazing Thai Taste Restaurant ซึ่งเป็นการสร้างเครือข่ายร้านอาหารแนะนำที่มีคุณภาพในทุกจังหวัดผ่านการคัดกรองของคณะทำงาน 5 ฝ่าย ประกอบด้วย หอการค้าไทย สมาคมภัตตาคารไทย สมาคมโรงแรมไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ร้านอร่อยในท้องถิ่นกว่า 1,000 ร้านค้า เป็นแม่เหล็กที่จะกระตุ้นให้เกิดการเดินทางไปชิมอาหารในภูมิภาค
อีกโครงการหนึ่ง คือ Amazing Thai Taste Festival 2018 สืบเนื่องจากในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปีจะเป็นช่วงที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติน้อยที่สุด (Green Season) ประกอบกับเป็นช่วงที่จะมีผลไม้หลักหลายประเภทออกผลผลิตมาในช่วงนี้พอดี ทางคณะทำงาน D3 จึงมีแนวคิดที่จะใช้เรื่องอาหารเป็นปัจจัยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มาประเทศไทยในช่วงเดือนนี้ โดยจัดให้เป็นเดือนแห่งเทศกาลอาหารของไทย คล้ายกับงาน Oktoberfest ของเยอรมัน ซึ่งในปีนี้นอกจากจะมีกิจกรรมทั่วประเทศ จากพันธมิตรแล้ว ททท.ยังจะจัดงานเทศกาลอาหารใหญ่ในช่วงวันที่ 7 ถึง 10 มิถุนายน ที่สยามสแควร์ ซึ่งในงานจะเป็นการรวมอาหารขึ้นชื่อของทั้ง 5 ภาค อาหารจานเด็ดจากเชฟชื่อดัง และกิจกรรมที่น่าสนใจอีกมากมาย
โครงการ Downtown VAT Refund for Tourists เป็นการจัดตั้งจุดรับคืนภาษีมูลค่าเพิ่มในเมืองสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยจัดให้เป็นบริการสาธารณะที่สามารถมาขอรับคืนภาษีฯ จากสินค้าที่ซื้อจากผู้ประกอบการในระบบ VAT Refund ทุกราย โดยจะคืนเป็นเงินสดในสกุลเงินบาทเท่านั้น เพื่อให้นักท่องเที่ยวนำกลับมาจับจ่ายใช้สอยต่อได้ทันที เป็นการอำนวยความสะดวก และเพิ่มรายได้ รวมถึงสามารถกระจายรายได้ในส่วนนี้ไปถึงผู้ประกอบการรายย่อยอีกด้วย โดยจะเริ่มทดลองในช่วงแรก 5 แห่งในกรุงเทพฯ ภายในต้นเดือนเมษายนนี้ ได้แก่ 1) สยามพารากอน 2) เซ็นทรัล เวิลด์ 3) เซ็นทรัล ชิดลม 4) โรบินสัน สุขุมวิท และ5) ดิ เอ็มโพเรียม จากนั้นจะประเมินผลเพื่อขยายไปยังจุดอื่น ๆ ต่อไป
โครงการ Digital Tourism Platform เป็นความร่วมมือของภาคเอกชนในการสร้าง Platform ท่องเที่ยวของประเทศไทย เพื่อเป็นศูนย์รวมของสินค้าและบริการด้านท่องเที่ยว รวมถึงข้อมูลที่จำเป็นภายใน Application เดียว เป็นการยกระดับประสบการณ์การท่องเที่ยวแบบครบวงจรสำหรับนักท่องเที่ยว ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วย โดยภายในปีนี้จะเริ่มที่ 5 โมดูลหลักก่อน คือ 1) Downtown VAT Refund for Tourists ร่วมกับสมาคมผู้ค้าปลีกไทย 2) Amazing Thai Taste e -Showroom ร่วมกับสมาคมภัตตาคารไทย 3) Entertainment e-Ticket ร่วมกับสมาคมสวนสนุกฯ 4) Online Hotel Booking ร่วมกับสมาคมโรงแรมไทย และ 5) Online Package & Optional Tour ร่วมกับสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว
และเรื่องสุดท้ายคือ การยกเลิก ตม.6 จากที่คณะทำงาน D3 ได้ผลักดันให้มีการยกเลิกการใช้เอกสาร ตม.6 เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีในการเก็บข้อมูลได้พัฒนาไปมาก สามารถใช้ช่องทางอื่น ๆ ในการจัดเก็บข้อมูลเพื่อทดแทน ตม.6 ได้ โดยยังคงมีความปลอดภัยและได้รับข้อมูลที่ต้องการครบถ้วน ส่งผลให้มีการยกเลิกการใช้ ตม.6 สำหรับคนไทยในปีที่แล้วนั้น ในปีนี้ คณะทำงาน D3 จะเดินหน้าผลักดันเพื่อขยายผลการยกเลิก ตม.6 สำหรับชาวต่างชาติต่อไป โดยต้องใช้เวลาระยะหนึ่งสำหรับการพัฒนาระบบขึ้นมาทดแทน ซึ่งในหลายส่วนก็ได้มีการดำเนินการไปแล้ว เช่น ททท. พัฒนาระบบเก็บข้อมูลนักท่องเที่ยวโดยใช้วิธีการทางสถิติ ทำให้ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาข้อมูลจาก ตม.6 เป็นต้น
ด้าน นายชนินทธ์ โทณวณิก หัวหน้าทีมภาคเอกชน : คณะทำงานสานพลังประชารัฐด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวและMICE (คณะทำงาน D3) กล่าวว่า การท่องเที่ยวของไทยเติบโตอย่างต่อเนื่องและเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่สำคัญ คณะทำงานสานพลังประชารัฐด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวและ MICE (D3) จึงดำเนินโครงการเพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวช่วยการกระจายรายได้ไปยังภาคส่วนต่าง ๆ ตลอดทั้งห่วงโซ่ (Value Chain) การท่องเที่ยว ผ่านเครือข่ายประชารัฐ อาทิ โครงการ “Amazing Thai Taste” ส่งเสริมการบริโภคอาหารไทย ผลไม้ไทยตามฤดูกาล ข้าวท้องถิ่น และของฝากจากอาหารไทย
ผ่านเครือข่ายประชารัฐ ช่วยกระจายรายได้ยังไปภาคเกษตร ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปี 2559 และประสบความสำเร็จจนทำให้ผลการสำรวจกิจกรรมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ปี 2559 นิยมการชิมอาหารไทยขึ้นเป็นอันดับ 1 รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง ผ่านโครงการ “เนรมิตอยุธยา” และโครงการ “ทัวร์ริมโขง” ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำแผนแม่บท (Master Plan) เพื่อให้อยุธยาเป็นเมืองท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ชั้นนำของโลก และจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนายกระดับการท่องเที่ยวริมแม่น้ำโขง สู่ความเป็นสากล เชื่อมโยงเส้นทางและกิจกรรมการท่องเที่ยว สำหรับ 7 จังหวัดริมฝั่งแม่น้ำโขง รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน อันจะช่วยเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวและกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นได้อีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินโครงการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน อาทิ 1) การนำการจัดประชุม สัมมนา และท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (MICE) มาสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เติบโต ควบคู่กับการยกระดับอุตสาหกรรมสำคัญ (Strategic Industry) ของประเทศไทย ผ่านการจัดงานใหญ่ ที่มีจุดเด่นแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ (คล้ายกับประเทศเยอรมัน ที่แต่ละเมืองมีการจัดงานใหญ่ต่างกัน) เพื่อให้เป็นงานประจำปีของพื้นที่ โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายที่ MICE City และเมืองรอง รวม 9 แห่ง (MICE City 5 แห่ง ได้แก่ กทม. ขอนแก่น เชียงใหม่ พัทยา ภูเก็ต และเมืองรอง 4 แห่ง ได้แก่ เชียงราย หาดใหญ่ สุราษฎร์ธานี พิษณุโลก) 2) การส่งเสริมประเทศไทยสู่การเป็น Shopping Paradise โดยในปีนี้ได้เพิ่มทางเลือกในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับนักท่องเที่ยว จากการคืนภาษีนอกบริเวณสนามบิน (Downtown VAT Refund for Tourists) อันจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
เพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบ เนื่องจากเงินที่ได้รับคืนเป็นสด สามารถนำไปจับจ่ายใช้สอยต่อได้ทันที 3) การเชื่อมโยงข้อมูลและการซื้อขายสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว ผ่าน Digital Tourism Platform ของประเทศ และ 4) การอำนวยความสะดวกและความปลอดภัย คณะทำงาน D3 ได้ส่งเสริมการจ้างงานผู้เกษียนอายุในท้องถิ่น ให้อำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัย แก่นักท่องเที่ยว ผ่านโครงการ “Amazing Thai Host” ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีจากนักท่องเที่ยวและผู้สูงอายุ รวมถึงได้ผลักดันเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง ด้วย “การยกเลิกเอกสาร ตม.6” และใช้ระบบ Electronics แทน ซึ่งเริ่มต้นแล้วสำหรับคนไทย และอยู่ระหว่างผลักดันเพื่อขยายผลสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ นอกจากนี้ คณะ D3 ยังได้ดำเนินโครงการพัฒนาบุคลากรด้านการบริการและการท่องเที่ยว ประกอบด้วย Apprentice Program ด้านการบริการและการท่องเที่ยว รวมถึงคัดเลือกและบรรจุเนื้อหาด้านการบริการและการท่องเที่ยว เข้าไปในหลักสูตรของโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา
ในปี 2561 นี้ คณะทำงานสานพลังประชารัฐ D3 ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ การท่องเที่ยวช่วยยกระดับรายได้และกระจายรายได้ไปสู่ท้องถิ่นและทุกภาคส่วน อันจะทำให้การท่องเที่ยวไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน