![790x442.jpg](https://webdata.thaichamber.org/public/upload/images/news/790x442.jpg)
ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง นวัตกรรม พัฒนาคน เพื่ออนาคตประเทศ โดย ดร.สุวิทย์ เมษิณทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 37
วันที่เผยแพร่ 03 ธ.ค. 2562
สรุปการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง นวัตกรรม พัฒนาคน เพื่ออนาคตประเทศ”
ในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 37
โดย ดร.สุวิทย์ เมษิณทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
วันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน 2562
ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
BCG Model โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
การผลักดันประเทศให้ก้าวข้าม Digital Disruption เพี่อรับกระแสการเปลี่ยนแปลงทางด้านการค้าและการลงทุนของโลก ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการเปลี่ยนถ่ายการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ช่วง Eastern Seaboard และการเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า รายได้ของประเทศส่วนใหญ่เน้นการผลิตเพื่อการส่งออกและการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นการพัฒนาประเทศโดยพึ่งพาต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น หากเศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบก็ส่งผลต่อประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัจจุบันรัฐบาลได้เร่งกำหนดแนวทางรองรับการแข่งขันภายใต้ศักยภาพและความได้เปรียบ และแนวคิดทำน้อยได้มาก แนวคิดเรื่อง BCG Model จึงเป็นแนวทางสำคัญที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศ ซึ่งประกอบไปด้วย Bioeconomy Circular Green economy จะเป็นทางออกที่สำคัญของประเทศ ที่จะนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน สร้างความเข้มแข็งจากภายในสู่ภายนอกและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยแนวคิด BCG จะตอบโจทย์ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 และการปฎิบัติตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เชื่อมโยงกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
ความท้าทายในการพัฒนาประเทศ
รัฐบาลได้กำหนดแนวทางการผลักดันอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีศักยภาพ ภายใต้ความหลากหลายทางชีวภาพ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม เพื่อเป็นฐานในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่สำคัญ ประกอบด้วย อุตสาหกรรมอาหารและเกษตร สุขภาพการแพทย์ พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งจะสร้างมูลค่าอีก 5 ปี ข้างหน้ากว่า 4.4 ล้านล้านบาทและการจ้างงานไม่น้อยกว่า 20 ล้านคน
กลไกการขับเคลื่อนและตัวเร่งการส่งเสริม BCG
รัฐบาลได้เร่งเตรียมกำลังคน ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ประกอบการ โดยสร้างกลุ่มสตาร์ทอัพ กลุ่มผู้ประกอบนวัตกรรม และกลุ่มสมาร์ทฟาร์มเมอร์ เพื่อขับเคลื่อน BCG การพัฒนาเชิงพื้นที่ เพื่อสร้างการกระจายการเติบโตอย่างทั่วถึง เช่น ระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ (NEC) , ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NEEC) , ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) , ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) การพัฒนาเทคโนโลยีและองค์ความรู้ขั้นแนวหน้า เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญต่อการสร้างรากฐานที่มั่นคงและยั่งยืน เช่น Complex Microbiota, Terahertz, OMICs, Decarbonization, Bioprocess Engineering เป็นต้น ส่วน 4 ตัวสนับสนุนการขับเคลื่อนที่จะต้องเร่งดำเนินการ ประกอบด้วย การปลดล็อคข้อจำกัดทางกฎหมายและระเบียบ ต่าง ๆ เพื่อเอื้ออำนวยต่อการพัฒนา BCG การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญและสิ่งอำนวยความสะดวก การสร้างความสามารถของกำลังคน โดยการ Reskill /Upskill พัฒนาหลักสูตรให้ตอบโจทย์ BCG และสุดท้ายคือ การยกระดับเครือข่ายพันธมิตรต่างประเทศ เพื่อนำองค์ความรู้ และเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
การนำดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการยกระดับห่วงโซ่มูลค่า BCG
การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ BCG จำเป็นต้องมีความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ การสร้างแพลตฟอร์มจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการฐานข้อมูลเพื่อนำมาประมวลและวิเคราะห์ผ่านระบบ IOT ,Big data และ AI ซึ่งจะเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของประเทศในอีก 5 ปีข้างหน้า อาทิ ในภาคการเกษตรและอาหาร ซึ่งจะมีโครงการ ThaiGAP และ 1 ไร่ 1 ล้าน ที่หอการค้าไทยได้ริเริ่มดำเนินเนินการไว้แล้ว โดยจะเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสนับสนุน และเป็นภารกิจที่จะต้องขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมเป็นตัวอย่าง BCG In Action ซึ่งรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณดำเนินการไว้ในเบื้องต้น 2,500 ล้านบาท
-------------------------------------------
Presented by Thai Chamber
ติดตามข่าวสารและภาพกิจกรรมของหอการค้าไทยได้ที่
Website : https://www.thaichamber.org
FB : https://www.facebook.com/ThaiChamber
Line : @tccline (ใส่ @ ด้วยครับ)
YouTube Channel : หอการค้าไทย Official