![790x442.jpg](https://webdata.thaichamber.org/public/upload/images/news/790x442.jpg)
สภาหอฯ ผนึกกรมการค้าต่างประเทศ ลงนาม MOU อำนวยความสะดวกผู้ส่งออก เพิ่มช่องทางออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าได้ 2 หน่วยงาน
วันที่เผยแพร่ 06 มี.ค. 2562
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยคณะกรรมการฯ เข้าร่วมงานโครงการจัดกิจกรรม "คต.ยกระดับการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าไทย...ก้าวสู่ Thailand 4.0" ณ สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พร้อมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ฯ ระหว่างนายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยมีนางดวงพร รอดพยาธิ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมเป็นสักขีพยาน เพื่อออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าให้ผู้ส่งออกในสินค้า 10 ชนิด เป็นครั้งแรกของประเทศไทย หวังอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการส่งออกสินค้ามาตรฐาน และรองรับการปรับลดขั้นตอนการส่งออกสินค้ามาตรฐานในอนาคต ชี้ปี 61 สินค้ามาตรฐาน 10 รายการมีการส่งออกมูลค่ากว่า 1.45 แสนล้านบาท
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การส่งออกนั้นมีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ซึ่งนำรายได้เข้ามาในประเทศจำนวนมาก ผู้ส่งออกสามารถขยายการจ้างงงาน และซื้อผลผลิตจากเกษตรกร ทำให้เกษตรกรมีรายได้และนำไปใช้จ่ายด้านอื่นๆ ต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจำนวนมากและเศรษฐกิจเจริญขยายตัวได้ต่อเนื่อง ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างมากที่จะรักษาไว้ซึ่งคุณภาพและมาตรฐานของสินค้า ซึ่งภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องให้ความสนใจ ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีกฎหมายควบคุมสินค้าที่จะส่งออก ต้องเป็นสินค้าที่มีมาตรฐาน โดยพระราชบัญญัติมาตรบานสินค้าขาออก พ.ศ.2503 เป็นกฎหมายที่ถูกออกแบบมาเพื่อมุ่งรักษาชื่อเสียงและคุณภาพของสินค้าไทย ว่าเป็นสอนค้าที่มีมาตรฐานนั่นเอง
การออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้ร่วมกันพัฒนานี้ ถือเป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ที่สามารเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างกันได้แบบ G2B ในลักษณะ Real Time ซึ่งสะท้อนความโปร่งใสในการดำเนินงาน นอกจากนั้น การบริการดังกล่าวจะามารถอำนวยความสะดวกให้กับผู้ส่งออกมากขึ้น ตามรูปแบบ Ease of Doing Business โดยเฉพาะในเรื่องของเวลาในการออกเอกสาร รวมถึงการเชื่อมต่อระบบ National Single Window เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกสินค้าให้กับประเทศในอนาคต
ทางด้านนายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยภายหลังการจัดงาน "คต.ยกระดับการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าไทย…ก้าวสู่ Thailand 4.0" ว่า กรมฯ ได้ลงนามบันทึกความตกลง (MOU) กับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อออกใบรับรองมาตรฐานสินค้า โดยกรมฯ และสภาหอการค้าฯ ได้ร่วมมือกันพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบ Real Time ตั้งแต่กระบวนการขอใบอนุญาตให้ส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร (อ.2) การยื่นคำร้องขอให้ออกใบรับรองมาตรฐานสินค้า (มส.13) และการออกใบรับรองมาตรฐานสินค้า (มส.24) ทำให้ผู้ทำการค้าขาออกซึ่งสินค้ามาตรฐาน สามารถที่จะขอออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าทุกชนิด ซึ่งปัจจุบันมีอยู่จำนวน 9 รายการ ได้ทั้ง 2 หน่วยงาน โดยสามารถเริ่มขอรับบริการได้ตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค.2562 เป็นต้นไป
ก่อนหน้านี้ สำนักงานมาตรฐานสินค้า กรมการค้าต่างประเทศ เป็นผู้ออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าจำนวน 3 ชนิด ได้แก่ ข้าวหอมมะลิไทย แป้งมันสำปะหลัง และปุยนุ่น ส่วนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเป็นผู้ออกใบรับรองมาตรฐานสินค้า จำนวน 6 ชนิด ได้แก่ ข้าวโพด ถั่วเขียว ถั่วเขียวผิวดำ ข้าวฟ่าง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และปลาป่น ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการอำนวยความสะดวก ลดขั้นตอน และเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ประกอบการ อีกทั้งสอดรับกับการพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลแบบบูรณาการของประเทศตามนโยบายของรัฐบาล
“เดิมที มีสินค้าจำนวน 10 รายการ ที่ต้องมีใบรับรองมาตรฐานก่อนส่งออก โดยรายการที่ไม่มีการมาขอใบรับรองมาตรฐานแล้ว ก็คือ ไม้สัก ที่เหลืออีก 9 รายการยังคงมีการขอใบรับรองมาตรฐานก่อนส่งออกอยู่ ซึ่งความร่วมมือกันในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่กรมฯ ยึดหลักความต้องการของภาคเอกชน การอำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชน และปรับตัวเองจากการเป็นหน่วยงานกำกับดูแลมาเป็นหน่วยงานที่อำนวยความสะดวกทางการค้า ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้การส่งออกสินค้าทั้ง 9 รายการดังกล่าวขยายตัวดีขึ้นได้”นายอดุลย์กล่าว
สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้ามาตรฐานในปี 2561 มีมูลค่าส่งออก 145,978 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.44% โดยสินค้ามาตรฐานสำคัญที่มีมูลค่าส่งออกสูงที่สุด คือ แป้งมันสำปะหลัง มีมูลค่า 59,644 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 58.40% รองลงมา คือ ข้าวหอมมะลิไทย มีมูลค่า 51,269 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.20%