
หอการค้าไทยเยี่ยมเยือนหอการค้าจังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ระหว่างวันที่ 9-11 มิถุนายน 2565
วันที่เผยแพร่ 11 มิ.ย. 2565
หอการค้าไทยเยี่ยมเยือนหอการค้าจังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ
ระหว่างวันที่ 9-11 มิถุนายน 2565
>> หอการค้าฯ เยือนบุรีรัมย์ ผลักดันรัฐปลดล๊อคการค้าชายแดนด่านไทย-กัมพูชา <<
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยได้นำคณะเยี่ยมเยือนหอการค้าจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อรับฟังปัญหาและแนวทางการผลักดันเศรษฐกิจในพื้นที่ พร้อมกันนี้ ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะนายธัชกร หัตถาธยากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อประสานความร่วมมือ เชื่อมต่อการทำงานระหว่างภาครัฐและเอกชน ตามแนวทาง Connect the dots โดยมี นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และคณะกรรมการหอการค้าไทยร่วมด้วย ทั้งนี้ ดร.ณัชอิสร์ ศรีสุขพรชัย ประธานหอการค้าจังหวัดบุรีรัมย์ ได้นำเสนอประเด็นที่สำคัญเพื่อขอให้หอการค้าไทยช่วยสนับสนุนและผลักดันต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ การเร่งรัดการตัดถนนวงแหวนรอบนอก อำเภอนางรอง อำเภอประโคนชัย รองรับความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจการค้าชายแดน และการเดินทางที่สะดวกปลอดภัย การขอให้ภาครัฐส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรเพื่อเพิ่มจำนวนสุกรเข้าสู่ระบบ รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดซึ่งเป็นพืชอาหารสัตว์หลังฤดูทำนา เพื่อเพิ่มปริมาณ Supply วัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ และทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ ตลอดจนการส่งเสริมเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อสายพันธุชั้นดีในจังหวัดบุรีรัมย์ โดยผู้ประกอบการในพื้นที่ได้เสนอให้ภาครัฐสนับสนุนเงินกู้อัตราดอกเบี้ยพิเศษและสนับสนุนองค์ความรู้ให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ เพื่อให้เกิดการยกระดับคุณภาพโคเนื้อสู่มาตรการสากล ซึ่งหอการค้าไทยจะนำไปผลักดันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ยังได้ร่วมกับนายอนุพงศ์ สุขสมนิตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ นายสุรงค์ บูลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการกลุ่มค้าชายแดนและข้ามแดน
จัดการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าชายแดนไทยและกัมพูชาร่วมกับนักธุรกิจและผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ ภายใต้แนวทาง Trade & Travel ของหอการค้าไทย โดยมีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย ศุลกากรช่องจอม ศุลกากรช่องสะงำ พาณิชย์จังหวัดบุรีรัมย์ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดบุรีรัมย์ แขวงทางหลวงสุรินทร์ กองกำลังสุรนารี และผู้ประกอบการค้าชายแดนในพื้นที่ ซึ่งมีข้อเสนอเพื่อผลักดันการค้าชายแดนที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดฝอยในการผลักดันการค้าระหว่างประเทศของไทย โดยมี 3 ประเด็นสำคัญ ดังนี้
1) การเร่งรัดเปิดจุดผ่อนปรนการค้าช่องสายตะกู อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ และ ยกระดับให้เป็นจุดผ่านแดนถาวร เนื่องจากมีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดบุรีรัมย์และกลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนล่าง เพราะอยู่ห่างจากจังหวัดเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา ประมาณ 185 ก.ม. ใช้เวลาเดินทาง 2 ชั่วโมง สามารถขนส่งสินค้าไป-กลับได้ภายใน 1 วัน ซึ่งจะช่วยประหยัดต้นทุนค่าขนส่งของผู้ประกอบการ
2) การผลักดันโครงการก่อสร้างด่านศุลกากรช่องจอม อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ แห่งใหม่ เนื่องจากด่านศุลกากรช่องจอมปัจจุบันมีพื้นที่เพียง 7 ไร่ แต่มีปริมาณรถบรรทุกผ่านเข้าออกด่านจำนวนมาก เฉลี่ย 200 คัน/วัน (ก่อนช่วงโควิด-19) ส่งผลให้มีรถติดสะสมอย่างมาก นอกจากนั้น สถานที่ปฏิบัติงานของหน่วยงานต่าง ๆ ยังแยกกันอยู่ และไม่รองรับการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว ตามแบบด่านสากล โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาอนุญาตให้สามารถใช้พื้นที่ในการก่อสร้างด่านศุลกากรช่องจอมแห่งใหม่ เพื่อพัฒนาให้จุดผ่านแดนถาวรช่องจอมมีลักษณะเป็นด่านมาตรฐานสากล และสามารถอำนวยความสะดวกในการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ
3) ผลักดันการพัฒนาทางหลวงหมายเลข 2201 ตอนแยกนาเจริญ-ช่องสะงำ เป็นโครงการขยายช่องทางจราจร จาก 2 ช่องเป็น 4 ช่องจราจร เริ่มจากสี่แยกนาเจริญไปยังด่านศุลกากรช่องสะงำ โดยหมวดทางหลวงภูสิงห์ เห็นชอบและดำเนินการสำรวจและออกแบบแล้ว ซึ่งจะช่วยให้การใช้เส้นทางมีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการค้าการท่องเที่ยวบริเวณด่านชายแดนช่องสะงำ ส่งผลให้เศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดนดีขึ้น
"การค้าชายแดนเป็นเรื่องสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งหารือและรับฟังข้อคิดเห็นของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในแต่ละพื้นที่ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้รวดเร็วและตรงจุด ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยเร็วต่อไป" นายสนั่น กล่าว
>> หอการค้าฯ ลุยพื้นที่สุรินทร์ ยกระดับโคเนื้อสู่มาตรฐานสากล พร้อมผลักดันการค้าชายแดน เพิ่มโอกาสการค้าในอนาคต <<
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า วันนี้หอการค้าไทยได้นำคณะเยี่ยมเยือนหอการค้าจังหวัดสุรินทร์ เพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะในการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัด ทั้งนี้ ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะ นายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เพื่อประสานความร่วมมือ พร้อมกับแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่ร่วมกัน
สำหรับประเด็นสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดสุรินทร์นั้น นายวีรศักดิ์ พิษณุวงษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดสุรินทร์ ได้นำเสนอเรื่องการส่งเสริมการเลี้ยงโควากิวที่มีคุณภาพแบบครบวงจร เชื่อมโยงตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ภายใต้แบรนด์ “สะเร็นวากิว” ซึ่ง ดร.สมบัติ ธีระตระกูลชัย รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ได้ลงพื้นที่มาช่วยผลักดันร่วมกับนายสมบัติ สมบูรณ์เทอดธนา อดีตประธานหอการค้าจังหวัดสุรินทร์ ตั้งแต่ปี 2560 ตามโครงการ 1 ไร่ 1 ล้าน และได้พัฒนาต่อยอดมาอย่างต่อเนื่องจนถึงประธานหอการค้าจังหวัดสุรินทร์คนปัจจุบัน ทั้งนี้ ได้มีการอบรมให้ความรู้ การปลูกพืชอาหารสัตว์ การเพิ่มช่องทางการจําหน่ายสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งยังช่วยส่งเสริมให้มีฟาร์มและโรงเชือดที่ได้มาตรฐาน จนสามารถส่งขายในโมเดิร์นเทรดต่าง ๆ ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีก 2 เท่าตัว ในขณะเดียวกัน ก็ยังสามารถใช้มูลวัวมาทำปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาด้านเกษตรอินทรีย์ของจังหวัดสุรินทร์ได้อีกด้วย
นอกจากนั้น การค้าชายแดนก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องช่วยกันขับเคลื่อนต่อไป โดยที่ด่านช่องจอม จ.สุรินทร์นั้น มีมูลค่าการค้ามากกว่า 1.3 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งหากมีการปรับปรุงพัฒนาด่านศุลกากรให้รองรับปริมาณการค้าที่จะเพิ่มขึ้นแล้ว จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานให้มีความสะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
“ช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา การขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลาย ๆ อย่างมีปัญหา แต่การค้าชายแดน ยังสามารถเติบโตได้มากกว่า 30% จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันผลักดัน เพื่อเป็นแรงหนุนในการฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยด่านช่องจอมที่สุรินทร์นั้น จะเป็นประตูสำคัญที่เปิดโอกาสทางการค้าได้อีกมาก” นายสนั่น กล่าว
>> หอการค้าไทยลงพื้นที่ กระตุ้นเศรษฐกิจศรีสะเกษ มุ่งพัฒนาโคขุนดอกลำดวน พร้อมดันทุเรียนภูเขาไฟ ยกระดับเศรษฐกิจท้องถิ่น <<
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยได้นำคณะเยี่ยมเยือนหอการค้าจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อหารือแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัด ทั้งนี้ ยังได้หารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ และ นายสฤษฎ์ นาควารินทร์ ประธานหอการค้าจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อประสานและเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างกันในการพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่อีกด้วย
ในด้านการค้าชายแดน จังหวัดศรีสะเกษมีด่านช่องสะงำที่เป็นด่านการค้าชายแดนที่สำคัญ โดยสินค้าส่งออกส่วนใหญ่ คือ น้ำผลไม้ และวัสดุก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพเส้นทางฝั่งกัมพูชาที่มีความลาดชัน จึงเป็นด่านที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจในการขนส่งสินค้ามากนัก แต่ทั้งนี้ สิ่งที่จะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ คือศักยภาพด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากมีระยะทางห่างจากเสียมราฐเพียง 180 ก.ม. เท่านั้น โดยศรีสะเกษสามารถพัฒนาในเรื่อง Medical Tourism ซึ่งจะช่วยดึงดูดคนกัมพูชาให้เข้ามาใช้จ่ายมากขึ้น ในขณะเดียวกัน เราอาจต้องปรับปรุงกฎระเบียบบางอย่างเพื่อรองรับกลุ่มเป้าหมายนี้ด้วย เช่น การยืดระยะเวลา Border pass ให้มีอายุนานขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีอายุเพียง 3 วัน อาจไม่เพียงพอสำหรับการเดินทางเข้ามารักษาทางการแพทย์ในบางกรณี
นอกจากนั้น หอการค้าจังหวัดศรีสะเกษ ยังต้องการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อแบบครบวงจร โดยปัจจุบันมีการเลี้ยงโคประมาณ 5 แสนตัว สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรได้เป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ได้มีการพัฒนาความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งเครือข่ายภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัย ระบบ Logistic และนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อลดต้นทุนในกระบวนการผลิต ทั้งนี้ หอการค้าไทยได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกความร่วมมือ โครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อแบบครบวงจร จังหวัดศรีสะเกษ ระหว่างจังหวัดศรีสะเกษ หอการค้าจังหวัด สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด และผู้แทนภาคเกษตรกร เพื่อพัฒนาอาชีพการเลี้ยงโคเนื้อ ภายใต้นโยบาย BCG (Bio Circular Green) เพิ่มรายได้ ลดต้นทุนการผลิต และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะสร้างความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศต่อไป
“โคขุนดอกลำดวนของศรีสะเกษนั้น ยังเป็นที่ต้องการของตลาดอีกมาก และจะเป็นการสร้างรายได้ที่ดี ความร่วมมือที่เกิดขึ้นนี้ เกษตรกรจะได้รับประโยชน์หลายด้าน โดยเฉพาะองค์ความรู้ แนวทางในการบริหารจัดการ ตลอดจนนวัตกรรมต่าง ๆ ที่นำมาใช้ ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถขยายผลและยกระดับรายได้อีกมากมายในอนาคต” นายสนั่น กล่าว
ทั้งนี้ การนำแนวคิด BCG มาใช้ในกระบวนการการเลี้ยงโคเนื้อนี้ ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี และสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของโลก โดยการจัดการมูลวัวนั้น นอกจากจะนำมาเป็นปุ๋ยแล้ว ยังสามารถนำมาผลิตเป็นไบโอแก๊ส เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นกระบวนการที่ช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย ซึ่งวิธีการเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่สร้างความยั่งยืนด้านปศุสัตว์ให้แก่จังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดใกล้เคียงต่อไป
นอกจากนั้น หอการค้าไทยยังได้นำคณะเข้าเยี่ยมชมสวนทุเรียนภูเขาไฟ ซึ่งเป็นของขึ้นชื่ออีกอย่างหนึ่งของจังหวัดศรีสะเกษ ที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร เป็นที่ต้องการของตลาด และยังมีอัตราการเติบโตที่ดี หากทุกฝ่ายร่วมมือกันส่งเสริมและพัฒนาอย่างต่อเนื่องแล้ว เชื่อว่าเศรษฐกิจของพื้นที่จะเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด และจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
#Thaichamber
#หอการค้าไทย
#สร้างความเชื่อมั่น
#ร่วมกันสร้างสรรค์
#ช่วยกันผลักดัน
#connectthedots
-------------------------------------------
ติดตามข้อมูลสาระสำคัญต่างๆ ได้ทาง
Website : www.thaichamber.org
Line@ : https://lin.ee/JQKccCU
Instragram : https://bit.ly/2v5TYE7
Facebook : https://bit.ly/2V388o8
YouTube Channel : https://bit.ly/3zp4U1P