ข่าวสาร

790x442.jpg

หอการค้าไทยเยี่ยมเยือนหอการค้าจังหวัดอุทัยธานี ผลักดันการผันน้ำจากเขื่อน ศรีนครินทร์สู่ลุ่มน้ำ สะแกกรังและท่าจีน

วันที่เผยแพร่ 18 ธ.ค. 2562


หอการค้าไทยเยี่ยมเยือนหอการค้าจังหวัดอุทัยธานี

ผลักดันการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์สู่ลุ่มน้ำสะแกกรังและท่าจีน

  

     เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2562 หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นำโดยคุณกลินท์ สารสิน ประธานฯ พร้อมด้วยคณะกรรมการ เดินทางเยี่ยมเยือนหอการค้าจังหวัดอุทัยธานี โดยมีคุณณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี คณะกรรมการหอการค้าจังหวัดอุทัยธานี และนักธุรกิจรุ่นใหม่ YEC อุทัยธานี ให้การต้อนรับ ณ ศาลาว่าการจังหวัดอุทัยธานี ทั้งนี้ ได้มีการประชุมหารือร่วมกันในหลายๆ ประเด็น เช่น

1. ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำ เป็นการบริหารจัดการทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานด้านแหล่งน้ำในลุ่มน้ำ    ให้เกิดประโยชน์ เพื่อแก้ไขปัญหาในด้านภัยแล้ง น้ำท่วมและคุณภาพน้ำ ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ของโครงการระดับลุ่มน้ำตามลำดับความสำคัญดังนี้

  • การบรรเทาปัญหาภัยแล้ง
  • การบรรเทาปัญหาน้ำหลากท่วม
  • การจัดการมลพิษทางน้ำ
  • การอนุรักษ์ทรัพยากร และฟื้นฟูเขตต้นน้ำ
ในส่วนการบริหารจัดการในลุ่มน้ำของโครงการระดับท้องถิ่น ประกอบด้วย
  • ด้านการบริหารจัดการ
  • ด้านการจัดหาและพัฒนา
  • ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ

  

2. ยุทธศาสตร์การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในลุ่มน้ำ เป็นการผันน้ำจากลุ่มน้ำใกล้เคียงที่มีปริมาณน้ำมากมาก่อให้เกิดประโยชน์ในลุ่มน้ำสะแกกรัง จากการประเมินความต้องการน้ำ และวิเคราะห์สมดุลน้ำในสภาพปัจจุบัน (ปี 2546) อนาคต 10 ปี (ปี 2556) และ 20 ปี (ปี 2566) พบว่า ลุ่มน้ำสะแกกรัง มีความต้องการน้ำรวมเฉลี่ยปีละ 604.83  854.26 และ 1,068.06 ล้าน ลบ.ม. มีการขาดแคลนน้ำเฉลี่ย 226.78  416.43 และ 593.32 ล้าน ลบ.ม./ปี คิดเป็นการขาดแคลนน้ำร้อยละ 37 49 และ 56 ของความต้องการน้ำทั้งหมด ตามลำดับ
 
     โดยส่วนใหญ่เป็นการขาดแคลนน้ำด้านชลประทานเกือบทั้งหมด เมื่อพิจารณาการขาดแคลนน้ำในแต่ละลุ่มน้ำย่อย ในสภาพปัจจุบัน พบว่าลุ่มน้ำย่อยสะแกกรังตอนล่างมีการขาดแคลนน้ำสูงที่สุด คือเฉลี่ยปีละ 148.41 ล้าน ลบ.ม. รองลงมาคือ ลุ่มน้ำย่อยทับเสลา มีการขาดแคลนน้ำเฉลี่ยปีละ 53.08 ล้าน ลบ.ม. สัดส่วนความต้องการใช้น้ำเพื่อกิจกรรมต่างๆ ในลุ่มน้ำสะแกกรัง
 
ข้อเท็จจริง/ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น
  1. ปัจจุบันลุ่มน้ำสะแกกรังมีพื้นที่ประมาณ 3.25 ล้านไร่ เป็นพื้นที่การเกษตร 2.07 ล้านไร่ (ร้อยละ 63.70 ของพื้นที่) พื้นที่ป่าไม้ 1.07 ล้านไร่ (ร้อยละ 32.92 ของพื้นที่) พื้นที่อยู่อาศัย 0.08 ล้านไร่ (ร้อยละ 2.46 ของพื้นที่) ที่เหลือเป็นพื้นที่อื่นๆ  อีก 0.03 ล้านไร่ (ร้อยละ 0.92 ของพื้นที่)  
  2. โดยพื้นที่การเกษตรแบ่งเป็นพื้นที่ชลประทาน 0.67 ล้านไร่ และพื้นที่เกษตรน้ำฝน 1.40 ล้านไร่ ลุ่มน้ำสะแกกรังเป็นลุ่มน้ำที่มีพื้นที่การเกษตรสูงมากเมื่อเทียบกับปริมาณน้ำท่าในลุ่มน้ำ เฉลี่ยปีละ 1,203 ล้าน ลบ.ม. ทำให้เกิดปัญหาภัยแล้งเป็นประจำ
  3. ความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นเริ่มปรากฏเห็นได้ชัดเจนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 เป็นต้นมา ปัจจุบันลุ่มน้ำสะแกกรังมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียว คือ อ่างเก็บน้ำเขื่อนทับเสลา มีความจุใช้งาน 143 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำท่าไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเฉลี่ยปีละ  138 ล้าน ลบ.ม. ส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทาน 143,500 ไร่ ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำเป็นประจำ ทั้งนี้เพราะพื้นที่โครงการชลประทานทับเสลามีพื้นที่เพาะปลูกมากทำให้มีความต้องการน้ำมากกว่าปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ   
  4. ด้วยมูลนิธิสืบนาคะเสถียรและเครือข่ายคณะกรรมการอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตก 6 จังหวัดได้ติดตามนโยบาย "โครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์สู่ลุ่มน้ำสะแกกรัง และลุ่มน้ำท่าจีน" โดยจะมีการขุดอุโมงค์ผันน้ำลอดใต้ผืนป่าตะวันตก ผ่านอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ และอุทยานแห่งชาติพุเตย นั้น ได้มีข้อสรุปร่วมกันว่า ควรจะระงับโครงการนี้ เนื่องจากข้อเท็จจริงที่ว่าปริมาณน้ำส่วนเกินที่กล่าวอ้างในรายงานการศึกษาเบื้องต้นของโครงการฯ ไม่มีอยู่จริง และโครงการฯ นี้ ยังจะก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของผืนป่าตะวันตก นอกจากนี้ประโยชน์ที่ได้จากโครงการฯ ยังไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ทั้งทุนทางด้านทรัพยากรและจิตวิญญาณของชุมชน
 
รูปการใช้ที่ดินในปัจจุบันของลุ่มน้ำสะแกกรัง
 
ข้อเสนอ/แนวทางแก้ไขปัญหาและอุปสรรค                                                                                                                            
   ในอนาคตความต้องการใช้น้ำในลุ่มน้ำสะแกกรังที่เพิ่มมากขึ้นจะทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดปัญหาการแย่งน้ำในพื้นที่ซึ่งมีผลต่อความมั่นคงในสังคมและชุมชน และคาดว่าจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคการผลิตและการดำรงชีวิตของประชาชนในลุ่มน้ำ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำสะแกกรังอย่างจริงจัง ทั้งการจัดการด้านการใช้ที่ดิน
 
     ดังนั้น เพื่อจะช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งในลุ่มน้ำสะแกกรัง ในระยะยาวอย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพ จำเป็นต้องมีการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในลุ่มน้ำ โดยการผันน้ำจากลุ่มน้ำใกล้เคียงที่มีปริมาณน้ำมากมายังลุ่มน้ำสะแกกรัง จึงเสนอให้มีการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์สู่ลุ่มน้ำสะแกกรังและท่าจีน
 
-------------------------------------------
Presented by Thai Chamber
ติดตามข่าวสารและภาพกิจกรรมของหอการค้าไทยได้ที่
Website : https://www.thaichamber.org
FB : https://www.facebook.com/ThaiChamber
Line  : @tccline (ใส่ @ ด้วยครับ)
YouTube Channel : หอการค้าไทย Official