ข่าวสาร

790x442.jpg

หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยหารือร่วมกับกรมสรรพากร

วันที่เผยแพร่ 04 ก.ค. 2561


    

คณะกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นำโดยนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เข้าร่วมหารือกับนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากรและคณะฯ ณ ห้องประชุมพระอุเทน 5 ชั้น 2 กรมสรรพากร โดยมีประเด็นหารือและรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. โครงการ Downtown VAT Refund for Tourists เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากร และ คณะทำงานส่งเสริมการท่องเที่ยวและMICE (คณะทำงาน D3) ภายใต้คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ เพื่อทดลองตั้งจุดรับคืนภาษีมูลค่าเพิ่มในเมืองสำหรับนักท้องเที่ยวต่างชาติ โดยจัดให้เป็นบริการสาธารณะที่สามารถขอรับคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้จากผู้ประกอบการทุกรายที่อยู่ในระบบ VAT Refund for Tourists และยังคงใช้ระบบในการแสดงสินค้าขาออกเช่นเดียวกับที่มีอยู่เดิม จุดรับคืนนี้จะคืนเงินเป็นเงินสดในสกุลบาทเท่านั้น เพื่อให้นักท่องเที่ยวนำเงินนี้ไปจับจ่ายใช้สอยต่อได้ทันที  เป็นการกระตุ้นให้เกิดการเพิ่มการใช้จ่ายซ้อสินค้าและบริการ และเพิ่มโอกาสในการกระจายรายได้ไปสู่ผู้ประกอบการรายย่อย เริ่มดำเนินงานเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2560 หัวหน้าคณะทำงาน D3 ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้เข้าหารือกับรัฐมนตรีวาการกระทรวงการคลัง และมีมติเห็นชอบร่วมกันให้มีการทดลองดำเนินการเป็นระยะเวลา 6 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2560  ถึง วันที่ 30 กันยายน 2561 หลังจากนั้น จะมีการประเมินผลและหากประสบผลสำเร็จก็จะขยายเพิ่มจุดรับคืนเงินสดเช่นนี้ไปยังพื้นที่อื่นๆ ด้วย คณะทำงาน D3 ดำเนินการสรรหาผู้ลงทุน เพื่อจัดตั้งเป็นนิติบุคคลในรูปแบบบริษัทเพื่อเป็นตัวแทนของนักท่องเที่ยว ในการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากกรมสรรพากร โดยจัดตั้งจุดรับคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ในเมืองสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นเงินสดในสกุลเงินบาทเท่านั้น ซึ่งกำหนดเป็น 5 จุดบริการ ซึ่งเป็นพื้นที่ดำเนินการที่เหมาะสม ได้แก่ 1) Siam Paragon 2) Central World 3) Central Chidlom 4) Emporium 5) Robinson Sukhumvit

อนึ่ง กรมสรรพากร มีความต้องการให้ขยายผลไปในวงกว้าง คณะทำงาน D3 จึงได้เชิญผู้ประกอบการเป็นคณะทำงานเพิ่มอีก 6 ราย แต่มีเพียง 1 ราย คือ MBK เท่านั้นที่สนใจจะเปิด Counter ในช่วงทดลองนี้เป็นระยะเวลา 6 เดือน พร้อมประเมินผลดำเนินงาน หากประสบความสำเร็จ จะขยายจุดให้บริการไปยังจุดอื่น 

2. ข้อเสนอเพื่อปรับปรุงการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากร **ได้นำเสนอประเด็น ต่อ คณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลรัษฎากร สำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว ขอเสนอให้ กรมสรรพากร พิจารณาติดตามและผลักดันการแก้ไขประเด็นต่างๆ ตามข้อเสนอ  2.1 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา - การยื่นภาษีเงินได้ 1.การออกประกาศ หรือ ปรับปรุงกฎหมาย เกี่ยวกับภาษีเงินได้ฯ จะต้องตระหนักถึงว่าประชาชนทุกคนต้องมีหน้าที่เสียภาษี 2.การปรับปรุง/แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับภาษีเงินได้ฯ ไม่ควรสร้างภาระให้ประชาชน ตลอดจนเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกให้มีการตรวจสอบและติดตามผล - ห้างหุ้นส่วนและคณะบุคคล การจัดเก็บภาษีจากกำไรที่แบ่งให้หุ้นส่วนนั้น มองว่า เป็นการจัดเก็บภาษีที่ซ้ำซ้อน ไม่เป็นธรรม ทำให้มีภาระภาษีสูงมาก โดยไม่มีประเทศอื่นใด ดำเนินการเก็บภาษีเงินได้ในลักษณะนี้ - ค่าใช้จ่าย และ ค่าลดหย่อน วัตถุประสงค์เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีของประชาชน ตลอดจน เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ 2.2 ภาษีเงินได้นิติบุคคล - การชำระภาษีแบบ Tax Consolidation ปัจจุบัน บริษัทส่วนใหญ่ มีการดำเนินธุรกิจที่หลากหลาย จำเป็นต้องมีบริษัทในเครือเป็นจำนวนมากเพื่อใช้เป็น Flagship Company ในแต่ละประเภทธุรกิจของตน ดังนั้น การมี Flagship Company จะทำให้ บริษัทใหญ่บริหารจัดการและควบคุมดูแล ในแต่ละประเภทธุรกิจของตนได้อย่างประสิทธิภาพมากขึ้น และ จะก่อให้เกิด Value Chain ทั้งกลุ่มบริษัท และกรณีที่เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจส่งผลให้กลุ่มบริษัทต้องปรับโครงสร้างภายในกลุ่ม โดยการ โอนทรัพย์สินและหนี้สินระหว่างกัน แนวทางการชำระภาษีตามแนวทางดังกล่าว  จะช่วยแก้ปัญหาประเด็น Transfer Pricing ในกลุ่มที่กรมสรรพากรให้ความสำคัญอีกด้วย - ภาษีเงินปันผล เนื่องจาก มีผู้เสียภาษีจำนวนมาก ยอมที่จะเสียเครดิตภาษีเงินปันผล (Dividend Tax) ในการเสียภาษีสุดท้าย (Final Tax) โดยไม่นำเงินปันผล มายื่นรวมเพื่อใช้เครดิตภาษีเงินปันผล เงินปันผลถือเป็นภาษีซ้อนในเชิงเศรษฐกิจ และ การเครดิตภาษีเงินปันผลนั้น     เป็นการขัดต่อหลักความสะดวก - การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 1.เป็นการสร้างแรงจูงใจให้บริษัทไทยขยายการลงทุนในต่างประเทศ 2.ลดโอกาสการวางแผนภาษีเพื่อเก็บกักกำไรไว้ในต่างประเทศ 3.สร้างโอกาสในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในเวทีนานาชาติ - รายจ่ายต้องห้าม วัตถุประสงค์เพื่อให้มีความทันสมัย เหมาะสมกับกิจการ และป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษี

2.3.ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
- อัตราการจัดเก็บภาษี วัตถุประสงค์เพื่อลดความยุ่งยากของระบบภาษี และเพิ่มจำนวนผู้เสียภาษี(เสนอให้มี Rate อัตราเดียว เพื่อไม่เป็นภาระแก่ผู้ประกอบการ)
- ยกเว้น WHT ตามมาตรา 70แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดไว้ว่า บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย มีภาระต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย (Withholding Tax : WHT ) 15 % สำหรับผลได้จากทุน(Capital Gain) ที่จ่าย จากหรือ ในประเทศไทย ทั้งนี้ บริษัทต่างประเทศซึ่งเป็นผู้ขายหุ้น มักจะผลักภาระภาษีให้แก่ผู้ซื้อในประเทศไทย ทำให้ต้นทุนในการลงทุนของบริษัทไทยสูงกว่าบริษัทในต่างประเทศ ซึ่งไม่กำหนดให้หัก WHT ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการลงทุน โดยให้มีต้นทุนเทียบเท่าประเทศอื่นๆ
 
2.4. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
- ระยะเวลาและการออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่ม วัตถุประสงค์เพื่อ ลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการ รวมทั้ง เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี ความสะดวกในการออกใบกำกับภาษี การลดจำนวนใบกำกับภาษี   ตลอดจนอำนวยความสะดวกในทางปฏิบัติให้กับผู้ประกอบการ เช่น การออกใบกำกับภาษี จากรายวันให้ขยายเป็น 1 เดือน ออกใบกำกับ 1 ครั้ง
- การยกเว้นภาษี ปัจจุบัน การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม จะยกเว้นให้กับการขายสินค้าบางประเภท แต่การยกเว้นดังกล่าวข้างต้น ไม่ได้ยกเว้นให้กับสินค้าและบริการเหล่านั้นทั้งหมด เช่น การขายหนังสือตำราเรียน ค่ากระดาษ หมึกพิมพ์ อันเป็นวัตถุดิบสำคัญซึ่งยังคงต้องซื้อหาในราคาที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้เป็นต้นทุนแฝงในหนังสือตำราเรียนเหล่านั้น ประโยชน์ที่จะได้รับจากแนวทางฯ คือ การขายสินค้าและบริการดังกล่าวจะต้องยื่น ภพ.30 เป็นประจำทุกเดือน และการหลีกเลี่ยงภาษีก็จะกระทำได้ยากขึ้น
 
2.5. อากรแสตมป์
- อากรแสตมป์ วัตถุประสงค์เพื่อลดความยุ่งยากของระบบภาษี
 
2.6. การบริหารจัดการ (Governance)
- สร้างการรับรู้และส่งเสริมความเข้าใจแก่ผู้เสียภาษี วัตถุประสงค์เพื่อให้ ผู้มีหน้าที่เสียภาษี ได้มีโอกาสศึกษาหาความรู้ และ สร้างความเข้าใจในการเสียภาษีอย่างถูกต้องและลดปัญหาการหลีกเลี่ยงภาษี ลดปัญหาการตีความทางด้านกฎหมาย 
- Double Tax Agreement (อนุสัญญาว่าด้วยการเก็บภาษีซ้อน) วัตถุประสงค์เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน เพื่อเพิ่มความสะดวกในการชำระภาษีซ้ำซ้อน จากการทำธุรกิจระหว่างประเทศ ทั้ง Corporate (นิติบุคคล) & Individual Taxpayer (บุคคลธรรมดา) เช่น การเครดิตภาษี หรือ การหักเป็นรายจ่าย เป็นต้น
 
        
 
3. แนวทางการประเมินภาษีเกี่ยวกับธุรกิจพาณิชยนาวี
3.1 การประเมินภาษีสำหรับสัญญาการขนส่งทางทะเลแบบ  Time Charter Party
3.2 การประเมินภาษีสำหรับเรือสำราญและกีฬาขนาดใหญ่ (Super Yacht)
 
4. แนวทางความร่วมมือระหว่างหอการค้าไทยและกรมสรรพากร : ด้วย หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (The Joint Foreign Chambers of Commerce in Thailand : JFCCT) มีความประสงค์จะจัดงาน Forum  หรือ Workshop ร่วมกันระหว่าง กรมสรรพากร กับ JFCCT ในหัวข้อเรื่อง “e-Commerce Tax- On Line Service Providers”  วัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของธุรกิจ E-Commerce และ ผลกระทบต่อ ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ประกอบการกลุ่ม Online Service Provider และ Online Travel Agents(OTAs)  (JFCCT จะเป็นผู้เชิญคนเข้าร่วม ประมาณ 20 -25 คน) ตลอดจนอาจเชิญภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสำนักภาษี KPMG PHOOMCHAI Tax เข้าร่วมด้วย โดยมีร่างแนวทางเบื้องต้น ดังนี้
- กล่าวต้อนรับ โดย ผู้แทนกรมสรรพากร
- กล่าววัตถุประสงค์ โดย ผู้แทน JFCCT
- นำเสนอเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มของธุรกิจ e-Commerce 
- แลกเปลี่ยนความคิดเห็น
- สรุปผล


 ภาพประกอบ