หารือความร่วมมือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
วันที่เผยแพร่ 08 ก.พ. 2561
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับคณะกรรมการฯ เข้าพบนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อแสดงความยินดีในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ ณ ห้องรับรองรัฐมนตรี ชั้น 2 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากนี้มีการหารือประสานความร่วมมือกับหน่วยงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์ อาทิเช่น ความร่วมมือกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ในโครงการคูปองนวัตกรรมและโครงการนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) โดยหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยินดีประสานความร่วมมือผลักดันและสนับสนุนให้ภาคธุรกิจพัฒนาให้เกิดมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ ด้วยการนำผลงานวิจัยมาต่อยอดเชิงนวัตกรรม ที่สอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 ความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) (ITAP) ในโครงการทุนพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยในปี 2560 ที่ผ่านได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) ระยะเวลา 3 ปี เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ผลิตผักและผลไม้ พัฒนาคุณภาพการผลิตให้ได้มาตรฐาน Thai GAP เพื่อยกระดับสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพปลอดภัยและเป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ทั้งนี้หอการค้าไทยขอรับสนับสนุนการจัดงานสัมมนา : Food Thailand Innovation Forum 2018 ในปี 2561 ด้วยแนวคิดการจัดงาน 360 Degree มุ่งหวังกลุ่มเป้าหมาย SMEs ในธุรกิจอาหาร นักธุรกิจ นักลงทุน ด้านอุตสาหกรรมอาหารขนาดกลางและใหญ่ Modern Trade , Digital Trade , E-commerce นักศึกษาและบุคลากรในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร นักวิจัย (นักวิจัยภาครัฐ/นักวิจัยภาคเอกชน) เพื่อแสดงศักยภาพของผู้ประกอบการและนักวิจัยไทย เป็นเวทีเผยแพร่ผลงานของนักวิจัยไทย เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถนำงานวิจัยไปต่อยอดธุรกิจของตนเอง และยกระดับงานวิจัยไทยออกสู่ตลาดโลก ในการนี้หอการค้าไทยขอเรียนเชิญท่านรมต. ร่วมกล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ วันที่ 21 พฤษภาคม 2561 เวลา 9.30-10.30 น. อีกด้วย
ต่อมาคุณประวิทย์ ประกฤตศรี กรรมการหอกาาค้าไทย กล่าวขอสนับสนุนการดำเนินโครงการสานพลังประชารัฐ (Bio economy) ภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐ (คณะทำงาน D5 และ D6) โดยกำหนดแผนดำเนินโครงการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพอย่างยั่งยืน ในพืชเศรษฐกิจหลัก เช่น อ้อย และ มันสำปะหลัง เป็นสินค้านำร่อง โดยครอบคลุมและสามารถขยายผลไปใน 3 พื้นที่ ได้แก่ เขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) พื้นที่ภาคอีสานตอนกลาง และภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายของโครงการฯ ที่มีศักยภาพเหมาะสมแก่การเชื่อมโยงอุตสาหกรรมการเกษตรแบบครบวงจร ทั้งด้านวัตถุดิบ และโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการต่อยอดงานวิจัยภายใต้เครือข่ายวิจัย โดยเน้นงานวิจัยที่เป็น Traditional research มากกว่า Basic research เพื่อให้เกิดการบูรณาการการสนับสนุนโครงการลักษณะ “Whole Package” หรือ “Whole of Government” โดยหน่วยงานภาครัฐทำหน้าที่เป็น Facilitator ช่วยประสานงานระหว่างภาคเอกชน ภาครัฐ มหาวิทยาลัย และภาคท้องถิ่น ในการปลดล็อคปัญหา อุปสรรคและข้อจำกัด รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ