แนวทางการดำเนินการและข้อเสนอแนะของภาคเอกชน ในการสนับสนุนมาตรการหยุดยั้งการแพร่กระจายของ COVID-19 ของภาครัฐ
![](/public/upload/article/images/810_3642.JPG)
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายองค์กรภาคเอกชน กล่าวว่า ชีวิตของประชาชนคนไทยเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ปัจจุบันภาครัฐมีมาตรการในการยับยั้งการแพร่กระจายของโรค COVID-19 ที่เข้มข้น มุ่งเน้นการควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งมาตรการเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม การผลิตและการบริการเป็นวงกว้าง ทั้งนี้ รัฐบาลได้ออกมาตรการเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจเบื้องต้นแล้ว อย่างไรก็ดี คาดว่าสถานการณ์นี้ คงจะยังมีผลต่อเนื่องอีกระยะหนึ่ง จึงจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ดำเนินต่อไปได้ ดังนั้น ภาคเอกชนจึงมีข้อเสนอในการร่วมดำเนินงานกับรัฐบาล ดังต่อไปนี้
1. มาตรการเร่งด่วนด้านสาธารณสุข
1.1 ภาคเอกชนขอขอบคุณที่ภาครัฐได้สื่อสารให้ประชาชนเห็นความสำคัญ ในการใส่หน้ากากเมื่อออกจากที่พักอาศัย ที่ทำงาน รวมถึง ความสำคัญของการล้างมือ เพราะเป็นมาตรการลดการแพร่กระจายเชื้อสู่สาธารณะที่มีประสิทธิภาพและปฏิบัติได้ง่าย โดยภาคเอกชนพร้อมที่จะร่วมผลักดันการสื่อสารดังกล่าว
1.2 ภาคเอกชนพร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการเร่งรัดจัดหาหน้ากากให้เพียงพอกับการใช้งาน ทั้งโดยการผลิตภายในประเทศและการนำเข้า อย่างไรก็ดี ภาครัฐควรมีมาตรการสนับสนุนการผลิต/นำเข้าและกระจายเวชภัณฑ์ที่จำเป็นต่างๆอย่างเร่งด่วน (เช่น Test Kit,เครื่องช่วยหายใจ, วัตถุดิบในการผลิตยาและเวชภัณฑ์ เป็นต้น)
1.3 สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยพร้อมที่จะร่วมประสานงานกับศอฉ.COVID-19 ในการรวบรวมพลังของภาคเอกชนในการให้ความช่วยเหลือประชาชน
1.4 ภาคเอกชนพร้อมให้ความสนับสนุน สถาบันทางการแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ เช่น อาหาร น้ำ และเงินบริจาค
2. ภาคเอกชนจะให้ความร่วมมือในการผลิตสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค และยังคงการจ้างงาน รวมทั้ง ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs โดยมีแนวทางการบริหารจัดการในอุตสาหกรรมและบริการดังนี้
2.1 อุตสาหกรรมที่มีความจำเป็น (Essential) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต และป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรงจะต้องสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม , เวชภัณฑ์การแพทย์ , เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร , ธนาคาร . ธุรกิจการเกษตร . พลังงาน และสาธารณูปโภค รวมถึงอุตสาหกรรมต้นน้ำ ที่ต้องป้อนอุตสาหกรรมข้างต้น ตลอดจน การจัดจำหน่าย การขนส่ง และโลจิสติกส์
ทั้งนี้ การนำเข้าเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิต ช่องทางการจัดจำหน่าย เช่น ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต การขนส่งและโลจิสติกส์ทั้งทางบก ทางน้ำ (รวมถึงท่าเรือ) และทางอากาศเพื่อรองรับการกระจายสินค้าทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องและจำเป็นต่ออุตสาหกรรมดังกล่าว เช่น การบรรจุภัณฑ์ กระดาษและวัสดุการพิมพ์ โรงกลั่น ปิโตรเคมี ก๊าซ(ออกซิเจนสำหรับใช้ในโรงพยาบาล) และเคมีภัณฑ์ ให้สามารถดำเนินการได้ เพื่อสนับสนุนการผลิตและการบริการของอุตสาหกรรมที่จำเป็นข้างต้น
2.2 เชิญชวนให้ผู้ประกอบการจัดทำ มาตรการเชิงรุก (Proactive) ป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เข้มข้น ทั้งในสำนักงานและโรงงาน และต้องมีแผนรับรองกรณีที่พบผู้ติดเชื้อ ทั้งสำหรับสำนักงานและโรงงาน จึงขอเสนอตัวอย่างของมาตรการที่จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ดังต่อไปนี้
3. มาตรการด้านเศรษฐกิจ ระหว่างประกาศภาวะฉุกเฉิน ควรเน้นความเร็วและการเข้าถึง เพื่อให้ประชาชนสามารถยังชีพได้ และลดปัญหาสังคม หลักสำคัญที่สุด คือ การชะลอการเลิกจ้าง และ การประคับประคองให้ผู้ถูกเลิกจ้างสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยสวัสดิการ/เงินอุดหนุนต่างๆ
3.1 หลังจากประกาศภาวะฉุกเฉินแล้ว เอกชนมั่นใจว่าระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานจะสามารถให้บริการได้อย่างราบรื่นและต่อเนื่อง อาทิ ระบบน้ำประปา ไฟฟ้า โทรคมนาคม การเงิน และท่าเรือขนส่งสินค้า เป็นต้น
3.2 ตามที่รัฐได้แถลงนโยบายไปแล้ว เรื่องชะลอการเลิกจ้างโดยการให้การสนับสนุนด้านการเงินให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อนำไปจ่ายให้กับลูกจ้าง เสนอให้ตั้งกองทุน (อาจจะร่วมกับเอกชนด้วย) ให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการเพื่อนำไปจ่ายค่าแรง
3.3 ขอบคุณที่ภาครัฐได้ออกมาตรการ พักชำระหนี้ และ ปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคารให้แก่ SMEs รวมทั้ง ให้วงเงินกู้เพิ่มเติมกับธุรกิจที่ขาดสภาพคล่อง
3.4 เสนอควรอนุญาตให้มีการจ้างงานรายชั่วโมง เพื่อป้องกันปัญหาการเลิกจ้างแรงงาน
3.5 ขอให้หน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจติดต่อกับภาคเอกชน สามารถให้บริการและติดต่อทางออนไลน์ ได้อย่างต่อเนื่อง เช่น การออกใบอนุญาตต่างๆ การนำเข้าส่งออกสินค้าต่างๆ ไม่ให้มีการตกค้างที่ท่าเรือ หรือ สนามบิน
3.6 ภาคเอกชนจะประสานงานกับภาครัฐอย่างใกล้ชิด เพื่อผ่อนผันให้ผู้ประกอบการขนส่งสินค้า สามารถขนส่งสินค้าได้ตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคและบริโภค ในอุตสาหกรรมที่จำเป็น เพื่อไม่ให้สินค้าขาดแคลน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการขนส่งต้องมีมาตรการคุมเข้มด้านความสะอาดและปลอดภัย ให้แก่พนักงานขนส่ง
3.7 ควรมีการติดตามผลว่ามาตรการต่างๆที่ได้ประกาศใช้สามารถช่วยเหลือ ผู้ประกอบการได้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะเมื่อวิกฤตครั้งนี้ผ่านไป การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการกลับมาดำเนินการของธุรกิจเหล่านี้ ทั้งนี้ การให้ความสนับสนุนในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศในระยะยาว
4. ข้อเสนอแนะอื่น ๆ
4.1 ด้านการสื่อสาร
• ขอชื่นชมในการจัดตั้งศูนย์ศอฉ.COVID-19 เพื่อเป็นศูนย์รวมในการสื่อสารให้เป็นในแนวทางเดียวกัน อย่างชัดเจน ทั้งนี้ ควรจัดให้มีผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ออกมาให้ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง
• ขอให้รัฐบาลสื่อสารให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานต่างๆ ปฏิบัติตามมาตรการที่ประกาศใช้ด้วยความเข้าใจที่ตรงกัน
• ภาคเอกชนพร้อมร่วมมือในการร่วมสื่อสารมาตรการเยียวยาของภาครัฐที่ได้ประกาศใช้ให้ประชาชนได้รับทราบอย่างชัดเจนและทั่วถึง
4.2 ด้านการบริหารจัดการ
• เอกชนพร้อมและยินดีให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ในการทำงานบูรณาการ กับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในช่วงภาวะฉุกเฉิน และหลังวิกฤตการณ์ COVID-19 เพื่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้กลับมาเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
• ขอขอบคุณภาครัฐที่มีมาตรการดูแลความปลอดภัย และความสงบ ในพื้นที่โดยตำรวจและทหาร เพื่อป้องกันคนส่วนใหญ่จากมิจฉาชีพและผู้ฉวยโอกาส
• ภาครัฐควรต้องรักษาระบบการเงินด้วยการสร้างความเชื่อมั่นว่า “มีเงินทุนในระบบแบบไม่จำกัด”ด้วยมาตรการทางการเงินต่างๆ
ภาคเอกชนจะพยายามทำหน้าที่เพื่อสังคมไทยและพร้อมประคองสถานการณ์
และช่วยให้ประเทศไทยสามารถผ่านพ้นวิกฤติไปได้ โดยจะร่วม สร้างความมั่นใจ สร้างความเชื่อมั่น สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ร่วมกับภาครัฐ
-------------------------------------------
Presented by Thai Chamber
ติดตามข่าวสารและภาพกิจกรรมของหอการค้าไทยได้ที่
Website : https://www.thaichamber.org
FB : https://www.facebook.com/ThaiChamber
Line : @tccline (ใส่ @ ด้วยครับ)
YouTube Channel : หอการค้าไทย Official