อนุญาโตตุลาการ


อนุญาโตตุลาการ เป็นการพิจารณาคดีและชี้ขาดคดีทางพาณิชย์ โดยอนุญาโตตุลาการเอกชน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคู่คดี โดยคำชี้ขาด (Award) มีลักษณะคล้ายคลึงคำพิพากษาของศาล สามารถใช้บังคับได้ในประเทศไทยและประเทศที่เป็นสมาชิกของอนุสัญญานิวยอร์ค (New York Convention) ทุกประเทศในอาเซียนรวม 156 ประเทศทั่วโลก

 

 

อ่านเพิ่มเติม


อนุญาโตตุลาการ (Arbitration) คือ การระงับข้อพิพาททางเลือกรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นจากความยินยอมของคู่สัญญา ซึ่งคู่สัญญาจะตกลงกันทำสัญญาที่เรียกว่า สัญญาอนุญาโตตุลาการ (Arbitration agreement) โดยคู่สัญญาสามารถตกลงที่จะใช้สัญญาอนุญาโตตุลาการได้เฉพาะคดีแพ่งและคดีทางพาณิชย์ ที่เกี่ยวกับธุรกิจและการค้า โดยที่คู่สัญญาสามารถแต่งตั้งบุคคลคนเดียวหรือหลายคนเพื่อชี้ขาดข้อพิพาทที่เรียกว่า อนุญาโตตุลาการ [Arbitrator(s)] ซึ่งคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการสามารถนำไปบังคับตามคำชี้ขาดได้ทั้งในประเทศไทยและประเทศที่เป็นสมาชิกของอนุสัญญานิวยอร์ค (New York Convention) ทุกประเทศในอาเซียนรวม 156 ประเทศทั่วโลก การระงับข้อพิพาทด้วยอนุญาโตตุลาการนี้เป็นที่นิยมแพร่หลายกันทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการลงทุนและธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ (Investment and International Business Transaction) ตลอดจนการขนส่งระหว่างประเทศ (Logistic) เป็นต้น

ประวัติความเป็นมา

สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเป็นสถาบันหนึ่งที่มีสำนักงานสภาอนุญาโตตุลาการดำเนินการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 ตามข้อบังคับอนุญาโตตุลาการการค้าไทย โดยที่ประเทศไทยได้มีพันธกรณีภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศ คือ อนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการใช้บังคับคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ (อนุสัญญานิวยอร์ค ค.ศ. 1958) 

ต่อมาได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 สำนักงานสภาอนุญาโตตุลาการจึงได้ปรับปรุงแก้ไขข้อบังคับอนุญาโตตุลาการการค้าไทยอีกครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติดังกล่าวและเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าในปัจจุบัน

หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2551 ได้มีโครงการความร่วมมือ “งานอนุญาโตตุลาการ” ระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เพื่อเผยแพร่งานอนุญาโตตุลาการให้เป็นที่รู้จักและแพร่หลายตลอดจนส่งเสริมความรู้ ทักษะและประสบการณ์เกี่ยวกับงานอนุญาโตตุลาการให้กับนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ด้วย

 

[ คลิกที่ภาพ เพื่อขยาย ] 

ข้อกำหนดในสัญญา

คู่พิพาทที่ประสงค์จะดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยให้ระบุข้อความในสัญญา ดังนี้ “คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงยอมรับข้อบังคับอนุญาโตตุลาการการค้าไทยเป็นมาตรการในการระงับข้อพิพาท หากมีปัญหาโต้แย้ง หรือมีข้อพิพาทเกี่ยวกับหรือสืบเนื่องจากสัญญานี้ และคู่สัญญาไม่อาจทำความตกลงกันเองได้ ก็ให้ดำเนินการระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการเท่านั้นตามข้อบังคับอนุญาโตตุลาการการค้าไทย”

[ คลิกที่ภาพ เพื่อขยาย ] 

 

สาเหตุที่อนุญาโตตุลาการได้รับความนิยมไม่มากนัก
  • กรณีสัญญาระหว่างเอกชนกับรัฐ หรือสัญญาร่วมทุน นั้น คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2552 (ที่ปรับปรุงเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2547) กำหนด ห้ามใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการในสัญญาภาครัฐ ยกเว้น จะได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเป็นราย ๆ ไป  เนื่องจากที่รัฐได้ตกเป็นฝ่ายแพ้คดีในชั้นการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการหลายคดี  การแก้ไขปัญหานี้ จะต้องขอให้รัฐบาลทบทวนมติคณะรัฐมนตรี โดยอาจกำหนดประเภทของสัญญาใดบ้างที่จะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐมนตรี
  • ในทางการค้าชายแดน คู่สัญญามักไม่ได้ทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างกัน อาจมีเพียงใบสั่งซื้อ ทำให้เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้น เช่น สินค้าไม่ตรงตามสัญญาหรือไม่ตรงตามที่ผู้ซื้อคาดหวัง การชำระเงินล่าช้า ก็ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการได้
  • ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้ภาษาต่างประเทศ บุคลากรอาจไม่พร้อมกับการดำเนินข้อพิพาท ทำให้เสียโอกาสให้กับประเทศที่มีพื้นฐานด้านภาษาพร้อมกว่าประเทศไทย (เช่น สิงคโปร์ ได้รับความนิยมมากที่สุดในภูมิภาค)
  • บางกรณีทนายความหรือที่ปรึกษาในคดีมุ่งจะให้เกิดผลแพ้ชนะ  มากกว่าที่จะสามารถให้คู่สัญญาไกล่เกลี่ยประนีประนอมได้ รวมทั้งหากมีคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแล้วคู่สัญญาไม่ปฏิบัติตาม ก็จะต้องส่งคำชี้ขาดต่อไปยังศาล เพื่อให้ศาลมีคำสั่งบังคับคู่สัญญาอีกทอดหนึ่ง
  • เนื่องจากความรวดเร็วและการอำนวยความสะดวกในกระบวนการอนุญาโตตุลาการ  ทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายบางรายการสูงกว่าการนำคดีขึ้นสู่ศาล ซึ่งแท้จริงแล้ว หากเปรียบเทียบต้นทุนและโอกาสที่เสียไปในการดำเนินธุรกิจนั้น อาจมีมูลค่าที่ใกล้เคียงกัน
การยื่นคำเสนอข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการให้ดำเนินการตามรายการ ดังต่อไปนี้
  • ชื่อ - นามสกุลของคู่พิพาทพร้อมด้วยที่อยู่
  • รายละเอียดเกี่ยวกับข้อพิพาท
  • ต้นฉบับหรือสำเนาสัญญาหรือเอกสารที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนพยานเอกสารเกี่ยวกับข้อเท็จจริงอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งคู่พิพาทประสงค์จะอ้างถึง 
  • ข้อกำหนดอนุญาโตตุลาการหรือข้อตกลงให้ระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการที่ใช้บังคับแก่คู่พิพาท
  • ข้อเท็จจริงอันเป็นมูลหนี้แห่งข้อเรียกร้องและจำนวนเงินที่เรียกร้อง
  • คำขอเพื่อบรรเทาหรือชดใช้ความเสียหาย
  • จำนวนอนุญาโตตุลาการในกรณีที่ไม่ได้ตกลงกำหนดจำนวนอนุญาโตตุลาการกันไว้ก่อน

[ คลิกที่ภาพ เพื่อขยาย ] 

ค่าใช้จ่ายในการระงับข้อพิพาทโดยระบบอนุญาโตตุลาการ  
  1. ค่าธรรมเนียมสำนักงานสภาอนุญาโตตุลาการ ร้อยละ 1 ของทุนทรัพย์ ไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท และไม่เกิน 150,000 บาท เรียกเก็บจากคู่พิพาทฝ่ายที่ยื่นคำร้องและคำร้องแย้ง (ถ้ามี) เมื่อยื่นคำร้องต่อสำนักงาน
  2. เงินประกันค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ อัตราร้อยละ 10 ของค่าตอบแทนอนุญาโตตุลาการตามตารางค่าตอบแทนอนุญาโตตุลาการ เรียกเก็บจากคู่พิพาทฝ่ายที่ยื่นคำร้องและคำร้องแย้ง (ถ้ามี) เมื่อยื่นคำร้องต่อสำนักงาน
จำนวนทุนทรัพย์ เงินประกันค่าใช้จ่าย หมายเหตุ
ไม่เกิน 5,000,000 บาท 7,200 บาท

สำนักงานเรียกเก็บค่าใช้จ่ายตามอัตราที่เกิดขึ้นจริงฯ เช่น ค่าห้องพิจารณา ค่าอุปกรณ์ ค่าใช้จ่ายสำหรับเจ้าหน้าที่ ค่าอาหารและเครื่องดื่ม ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของคณะอนุญาโตตุลาการ เป็นต้น และอาจเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากที่ระบุไว้ได้ โดยความยินยอมของคู่พิพาท

ตั้งแต่ 5,000,001 - 20,000,000 บาท 15,600 บาท
ตั้งแต่ 20,000,001 - 50,000,000 บาท 22,800 บาท
ตั้งแต่ 50,000,001 - 100,000,000 บาท 37,200 บาท
ตั้งแต่ 100,000,001 - 500,000,000 บาท 61,200 บาท
ตั้งแต่ 500,000,001 - 1,000,000,000 บาท 90,000 บาท
ตั้งแต่ 1,000,000,001 ขึ้นไป 360,000 บาท

 
     3. เงินค่าตอบแทนคณะอนุญาโตตุลาการ เรียกเก็บจากคู่พิพาท เมื่อมีการแต่งตั้งคณะอนุญาโตตุลาการ

จำนวนทุนทรัพย์ เงินค่าตอบแทนอนุญาโตตุลาการ หมายเหตุ
ไม่เกิน 5,000,000 บาท 72,000 บาท คู่พิพาทจ่ายฝ่ายละกึ่งหนึ่ง
ตั้งแต่ 5,000,001 - 20,000,000 บาท 156,000 บาท  
ตั้งแต่ 20,000,001 - 50,000,000 บาท 228,000 บาท  
ตั้งแต่ 50,000,001 - 100,000,000 บาท 372,000 บาท  
ตั้งแต่ 100,000,001 - 500,000,000 บาท 612,000 บาท  
ตั้งแต่ 500,000,001 - 1,000,000,000 บาท 900,000 บาท  
ตั้งแต่ 1,000,000,001 ขึ้นไป 3,600,000 บาท  


** หากมีการเปลี่ยนแปลง สถาบันอนุญาโตตุลาการขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลง โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

แบบฟอร์มและกฏหมายที่เกี่ยวข้อง
  • แบบฟอร์มฉบับภาษาไทย (Thai) 
  • Arbitration Forms (English) 
  • กฎหมายที่เกี่ยวข้อง (Laws and Related Provisions)  
ติดต่อสอบถาม (Contact Us)
สำนักงานสภาอนุญาโตตุลาการการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 

The Thai Commercial Arbitration Office, the Board of Trade of Thailand 

150/2 ถนนราชบพิธ แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
โทรศัพท์ (Tel): (+66) 0 2018 6888 ต่อ (ext.) 5400, 4670, 4450
โทรสาร (Fax): (+66) 0 2622 0111
อีเมล (E-mail) : legal@thaichamber.org