ร้านจันทรโภชนา
ร้านอาหารอร่อย รสชาติความสุขคู่ชุมชนจันทบุรี
จันทรโภชนา นำเสน่ห์ของความเป็น ‘จันท์’ มาเพิ่มคุณค่าความเป็นท้องถิ่นผ่านอาหาร พร้อมยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง นำคุณค่าของท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าให้กับสินค้า โดยใช้คุณประโยชน์ของวัตถุดิบในท้องถิ่นก่อนใช้วัตถุดิบต่างถิ่น และการขยายธุรกิจโดยมองถึงความสมดุยของศักยภาพ ประสิทธิภาพและคุณภาพ การทำงานมากกว่าปริมาณของเนื้องาน ความพอเพียงช่วยยกระดับร้านจันทรโภชนา ให้เป็นมากกว่าแค่ร้านอาหารที่อร่อย แต่มีคุณค่าส่งผลถึงชุมชนรอบด้าน
“ธุรกิจที่ดีและยั่งยืน ต้องยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแก่นของธุรกิจ เจ้าของธุรกิจจะต้องไม่หยุดที่จะแสวงหาความรู้ให้เพิ่มพูนตลอดเวลา รวมถึงต้องยึดหลักคุณธรรมในการทำงาน เพราะการมีความรู้มาก แต่ไม่มีคุณธรรมมันก็เหมือนเป็นอาวุธร้ายมากกว่าจะเป็นผลดี ...”
ปัญหาหรือที่ส่งผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19
- โควิดทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวและลูกค้ามาที่ร้านน้อยลง
- รายได้จากการจำหน่ายอาหารและสินค้าชุมชุนลงลด
- ต้นทุนของธุรกิจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านพนักงาน
การแก้ไขปัญหาจากผลกระทบโควิด-19
▪ ความพอประมาณ :
- การวางแผนธุรกิจที่ดี : ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ การเป็นร้านอาหารท้องถิ่นที่มีชื่อเสียง ถือเป็นจุดแข็งของธุรกิจ
- ไม่ลงทุนเกินกำลังและความสามารถของตน : ร้านจันทรโภชนา มีเพียง 2 สาขา เพราะเน้นความเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นและชุมชน เพราะเราเชื่อว่า ธุรกิจไม่ได้เติบโตที่ขนาดหรือสาขา แต่เติบโตที่การเพิ่มคุณค่าท้องถิ่นมากกว่า จันทรโภชนาจะไม่เอาเสน่ห์ออกไปเดินทางไกล แต่อยากให้คนมาเจอเสน่ห์ของเมืองจันท์ที่ร้านมากกว่า
▪ ความมีเหตุมีผล :
- คัดเลือกวัตถุดิบอย่างมีเหตุและผล : นำวัตถุดิบและภูมิปัญญาท้องถิ่น นำมาเดิมความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น การประยุกต์ผลไม้ ในท้องถิ่นมารับประทานในรูปแบบต่างๆ ที่ไม่เหมือนเดิม
▪ ความมีภูมิคุ้มกันที่ดี :
- ต้องเติบโตไปอย่างยั่งยืนคู่กับชุมชน : จันทรโภชนาได้เพิ่มคุณค่าความเป็นท้องถิ่นผ่านอาหาร และพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้า โดยหวังว่าถ้าร้านเราเติบโต เหล่าเขียงหมูและร้านขายปลาที่แม่พี่เคยซื้อ เหล่าพ่อค้าแม่ค้าท้องถิ่นก็ต้องเติบโตไปกับเราด้วย
- การให้เกียรติก่อให้เกิดภูมิคุ้มกัน : การมีเพื่อนบ้านที่ดี เหมือนมีกำแพงแก้วคุ้มครอง การให้เกียรติชุมชนรอบด้านเป็นเรื่องจำเป็น เพราะหากธุรกิจช่วยเกื้อกูลชุมชนด้วยความถ่อมตัว เมื่อธุรกิจต้องเผชิญมรสุม ชุมชนก็จะยื่นมือเข้ามาช่วยประคับประคองเป็นการตอบแทน
▪ การส่งเสริมความรู้ :
- ความรู้ช่วยให้บรรลุเป้าหมาย : ความรู้ด้านอาหาร จะเน้นการใช้กลิ่นอายของท้องถิ่นเป็นแก่นของร้านมากกว่ารสชาติอาหาร ความรู้ที่สำคัญ คือ ความรู้จริงเกี่ยวกับวัตถุดิบท้องถิ่นและความคิดสร้างสรรค์พลิกแพลงวัตถุดิบท้องถิ่นที่ได้มา ประยุกต์อย่างไรให้ออกมาถูกปากจนทุกคนติดใจ บางวัตถุดิบอร่อยมากอยู่แล้ว ทำอย่างไรให้อร่อยยิ่งขึ้นไปอีก หรือแม้แต่ในวัตถุดิบที่ไม่ถูกปาก การรู้จักธรรมชาติจะช่วยรังสรรค์เมนูใหม่ ๆ ออกมา
- สร้างสรรค์การเรียนรู้ร่วมกัน : พนักงานในร้านเป็นเหมือน ทูตสันถวไมตรี จะคอยให้คำแนะนำ แก่ลูกค้าที่มาใช้บริการที่ร้านอาหาร อาทิ โรงแรมที่พัก สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหารและของฝาก สถานที่สำคัญในจังหวัด เป็นต้น
- การเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา : ความรู้และเทคโนโลยี จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ตลอดเวลา เพื่อพัฒนาธุรกิจให้ทันต่อเหตุการณ์
▪ การส่งเสริมคุณธรรม :
- เคารพและซื่อสัตย์กับธรรมชาติ : ธรรมชาติให้ความอร่อยในแต่ละช่วงเวลาแตกต่างกัน วัตถุดิบที่นำมาทำอาหาร ต้องให้ธรรมชาติจัดสรร อะไรรับประทานสดได้ ก็รีบต้องรับประทานสด เท่าที่ธรรมชาติอำนวย ส่วนที่เหลือจากการที่ธรรมชาติให้ ก็ค่อยเอามาแปรรูป ยิ่งธุรกิจร้านอาหารที่มีผักและผลไม้เป็นทรัพยากรสำคัญ ร้านจึงต้องบริหารทรัพยากรเหล่านี้ให้ดี เพื่อรักษาธุรกิจให้แข็งแรงมั่นคง การบริหารให้ดีจำเป็นต้องให้ธรรมชาติช่วย ช่วงไหนที่ธรรมชาติจะออกพืชผลอร่อย แล้วเลือกใช้วัตถุดิบตามนั้น
- ซื่อสัตย์กับลูกค้าและชุมชน : เราสร้างเครือข่ายร้านอาหารท้องถิ่นชุมชน เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้ผลิตรายเล็กหมั่นพัฒนาตัวเอง เช่น เขียงหมูต้องใช้หมูที่ได้มาตรฐานมากขึ้น ร้านขายปลาต้องมีเฉพาะปลาตามฤดูกาลเท่านั้น ร้านผักต้องหันมาปลูกผักอินทรีย์ ผลที่ออกมาจึงดีกับทั้งร้านและชุมชน เพราะธุรกิจก็มีความเฉพาะตัว ส่วนชุมชนก็ได้พัฒนา
- ซื่อสัตย์มาตรฐานความอร่อย : เป็นสิ่งที่สำคัญและชี้อนาคตของร้านอาหาร ความคิดสร้างสรรค์ที่ใส่ลงไปในอาหารทุกเมนู จะทำให้เมนูของที่นี่มีความโดดเด่นไม่ซ้ำใคร มีเหน้าตาสวยและมีเรื่องราว สิ่งเหล่านี้ ชวนให้คนอยากกลับมากินอีก
ผลลัพธ์ที่ได้จากการแก้ไขปัญหา
- ฝ่าวิกฤติด้วยการเปลี่ยนแนวคิดธุรกิจอาหาร ด้วย Service Design แต่ยังคงแก่นแท้ของธุรกิจอาหาร แต่โมเดลธุรกิจปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานะการณ์
- ลดจำนวนพนักงานโดยเน้นแบบสมัครใจ ส่วนพนักงานที่อยู่ลดเงินเดือนลง 30%
- ปรับเปลี่ยนเป็นระบบอาหารสำเร็จรูป อาหารแช่แข็งพร้อมทาน แต่ยังคงรดชาดเหมือนเดิม
- เพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายเป็นระบบออนไลน์ และ Food Delivery
- เพิ่มสัดส่วนการฝากขายสินค้าชุมชนเป็นตลาดของดีเมืองจันทร์
- ปรับสัดส่วนโมเดลธุรกิจให้สมดุล จากเดิมรายได้นั่งโต๊ะ 70% รายได้สินค้าชุมชน 30% โดยปรับเป็นเน้นรายได้สินค้าชุมชนและของฝาก 70% ส่วนนั่งโต๊ะเหลือ 30%
ข้อแนะนำที่เป็นประโยชน์
- ธุรกิจไม่ได้เติบโตที่ขนาด แต่เติบโตที่การเพิ่มคุณค่าท้องถิ่นให้เปล่งปลั่งมากขึ้น จันทรโภชนาจะไม่ เอาเสน่ห์ออกไปเดินทางไกล แต่อยากให้คนมาเจอเสน่ห์ของเมืองจันท์ที่ร้านมากกว่า
- ความสมดุล ไม่ได้หมายความว่า ขวาซ้ายจะต้องเท่ากัน ขวาอาจมากกว่า ซ้ายอาจมากกว่า ถ้าเรารู้จักที่จะเร่งตอนที่ควรเร่ง และหยุดตอนที่ควรหยุด ชีวิตก็จะไปถูกทาง
ข้อมูลกิจการ
- เจ้าของ : อุกฤษฏ์ วงษ์ทองสาลี (ต่อ)
- ธุรกิจ : จันทรโภชนา
- จังหวัด : จันทบุรี